กพร. จับมือ เอ็มเทค สวทช. จัดสัมมนาสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการออกแบบสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
(วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567) ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี:กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนาสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการออกแบบสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Creating Business Opportunities through Circular Economy Design) ย้ำความสำเร็จของโครงการฯ การประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการของสถานประกอบการเพื่อลดใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า BCG Model โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดให้น้อยที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มสัดส่วนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้มากขึ้น รักษาคุณค่าของทรัพยากรในระบบและหมุนเวียนใช้ให้นานที่สุด และลดการปลดปล่อยของเสียออกจากระบบให้น้อยที่สุด เพื่อก่อให้เกิดรูปแบบการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
กพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ และวัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน อีกทั้งได้รับมอบหมายให้เป็น Focal Point ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน Circular Economy ของประเทศ โดยมี เอ็มเทค เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในปีที่ 3 ภายหลังจากผลการดำเนินโครงการในช่วงปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมานั้นประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก ในการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ (Design for Circular Economy) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ การใช้งาน การจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ซึ่งรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการซ่อมแซม ยืดอายุการใช้งาน หรือรีไซเคิล
ซึ่งในปีนี้ผลของการดำเนินโครงการได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน และมีตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและได้รับคำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจาก เอ็มเทค จำนวน 3 ราย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากต้นทุนที่ลดลงหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมไม่ต่ำกว่า 142.45 ล้านบาทต่อปี และหากมีการนำต้นแบบที่ได้พัฒนาตามแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ไม่ต่ำกว่า 880 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่า) ต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และจากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นประกอบกับยังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากให้ความสนใจ กพร. จึงได้พิจารณาขยายผลการดำเนินโครงการไปสู่ปีที่ 4 ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่นำหลักการ Circular Economy ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดสัมมนา สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการออกแบบสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Creating Business Opportunities through Circular Economy Design) ในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Circular Economy ที่มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ถ่ายทอดประสบการณ์การประยุกต์ใช้แนวทาง Design for Circular Economy ของอุตสาหกรรมไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการประยุกต์หลักคิด Circular Economy ในการออกแบบ โดยเอ็มเทค ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของกลุ่มวิจัย ผนวกกับการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของเอ็มเทคที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องในรูปแบบการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ การใช้งาน การจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว ตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
“เอ็มเทค สวทช. เป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาที่พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีวัสดุและการผลิต ด้วยพันธกิจและความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยในการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีวัสดุให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องขอขอบคุณ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ให้ความไว้วางใจเอ็มเทค เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน“โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน”
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และขอขอบคุณบริษัทผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ รวมทั้งผู้ที่ได้ร่วมกันผลักดันโครงการนี้ให้เกิดผลสำเร็จในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีการประยุกต์หลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบ และมีตัวอย่างผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน” ดร.อศิรา กล่าว
สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อน Circular Economy ของประเทศ และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล โดยมี เอ็มเทค เป็นที่ปรึกษาโครงการ เช่น บริษัท คอทโก้ พลาสติกส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนังเทียม และแผ่นพลาสติกพีวีซี ชั้นนำ ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ได้วิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการต้นแบบของโครงการฯ เพื่อพัฒนาหนังเทียมพีวีซีคุณภาพสูงที่ปราศจากสารอันตราย เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรการของประเทศที่บังคับไม่ให้มีสาร Phthalate และ CPs และสามารถเข้าสู่กระบวนการหมุนเวียนเป็น “วัสดุรอบสอง (Secondary Materials) ได้อย่างปลอดภัย
ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. และบริษัทฯ ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินหาโซลูชันที่เหมาะสม ซึ่งนำมาสู่แนวคิดการพัฒนาหนังเทียมพีวีซีสูตรใหม่ที่ไม่ใช้สารอันตรายอย่าง Phthalate และ Chlorinated Paraffins พบว่าการผลิตหนังเทียมสูตรใหม่นี้ ผ่านเกณฑ์การทดสอบการลามไฟ มีสมบัติเชิงกลที่ใกล้เคียงกับสูตรเดิม และไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์โดยรวมแสดงให้เห็นว่าสูตรการผลิตใหม่สามารถนำมาใช้ทดแทนสูตรเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาการผลิตหนังเทียมที่ปราศจากสารอันตรายนี้ สะท้อนถึงการสร้างคุณค่า (Value Creation) และ การคงคุณค่า (Value Retention) เพื่อนำทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ให้นานที่สุดตั้งแต่ต้นทาง ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ภายในงานยังมีตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการอีกมากมาย เช่น บริษัท ยูเนี่ยนไพโอเนียร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรีนสปอต จำกัด และบริษัทอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการในปีที่ 1 และ 2 เป็นต้น