สทน.และ IAEA ลงนามความร่วมมือ เสริมสร้างศักยภาพงานวิจัยและพัฒนา ด้านวิศวกรรมชั้นสูงและบุคลากรด้านเทคโนโลยีฟิวชัน
17 มกราคม 2568 : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการวิจัยและความร่วมมือในด้านฟิวชัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านวิศวกรรมและบุคลากรด้านฟิวชันของประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ลงนามร่วมกับ ดร.นาจัท ม็อกทาร์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ โดย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. เป็นประธานการลงนาม พร้อมคณะผู้บริหารจาก สทน. และผู้แทนจากหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ในอาเซียนร่วมในพิธีที่จัดขึ้น ณ ห้องบุษบา โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในพิธีว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะในด้านฟิวชัน ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้สร้างกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาด้านนี้ ร่วมกับ IAEA และประเทศสมาชิกอาเซียน
ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศในการพัฒนาและใช้นวัตกรรมด้านนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีฟิวชัน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือไปสู่ระดับภูมิภาค โดยจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน และขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภูมิภาค
ประเทศไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ IAEA และประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในเชิงสันติ เราหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี และความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต” นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติม
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า นับตั้งแต่ สทน. ได้ติดตั้งและเดินเครื่อง Thailand Tokamak-1 โดยเครื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือสำหรับการวิจัยและทดลองภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับกิจกรรม ASEAN School for Plasma and Nuclear Fusion ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักวิจัยและนักศึกษาด้านฟิวชันในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 นอกจากนี้ โครงการนี้จะเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาโทคาแมคที่มีศักยภาพสูงขึ้น โดยจะพัฒนาให้เป็น Joint ASEAN Tokamak ในอนาคต
สทน. มีความตั้งใจที่จะเดินหน้าพัฒนาด้านนิวเคลียร์ พลาสมาและฟิวชันในประเทศไทย ความร่วมมือกับ IAEA ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ความสำเร็จในอนาคต พร้อมตั้งเป้าขยายความร่วมมือนี้ไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อใช้กรอบความร่วมมือนี้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ภายในประเทศ สทน. ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษา การวิจัย และภาคอุตสาหกรรม เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันมาอย่างต่อเนื่อง
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดอบรมเชิงลึกเฉพาะทาง การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการส่งเสริมการวิจัยด้านนิวเคลียร์พลาสมาและฟิวชัน ซึ่งไม่เพียงจะสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศไทย แต่ยังช่วยยกระดับศักยภาพ ด้านฟิวชันของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย