องค์การสวนสัตว์-ซินโครตรอนตกลงร่วมวิจัยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา ร่วมบูรณาการองค์ความรู้จากสองหน่วยงาน โดยประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการวิจัยที่นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พร้อมต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนต่อไป

นครราชสีมา : วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM) ในการร่วมบูรณาการองค์ความรู้ของสองหน่วยงานในงานวิจัย อนุรักษ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมความรู้และกิจกรรม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ รศ.ดร.วรสัณฑ์ บูรณากาญจน์ กรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ด้วย

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยมีความภูมิใจ ที่จะได้ดำเนินงานร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หน่วยงานที่สามารถผลิตแสงซินโครตรอนแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยภารกิจงานขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในหลายส่วนที่สามารถดำเนินงาน ร่วมบูรณาการกัน ไม่ว่าจะเป็นงานอนุรักษ์ งานวิจัย งานสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้าง นวัตกรรมจากองค์ความรู้ของสองหน่วยงาน นำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาความรู้ และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อเยาวชน และประชาชนทั่วไป สัตวแพทย์ขององค์การสวนสัตว์ฯ ยังมีความสนใจในการใช้สมุนไพรเพื่อลดความเจ็บปวดในสัตว์ ซึ่งหลังจากการลงนามจะได้หารือเพื่อนำไปสู่การวิจัยร่วมกันต่อไป”

รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์

รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ทางสถาบันฯ มีความเชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติและองค์ประกอบของวัตถุ การวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนยังสามารถตอบสนองงานวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตรวจวัดการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายและโลหะหนัก นำไปสู่การพัฒนากระบวนการบำบัดอย่างครบวงจร เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยสถาบันฯ เคยพัฒนาห้องปฏิบัติการบนชิปเพื่อคัดแยกอสุจิสำหรับเลือกเพศวัว ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์ฯ ได้ ทั้งนี้ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนต่อไป จึงนำมาสู่การลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้”

Leave a Reply

Your email address will not be published.