เด็กไทยเจ๋ง..!! คว้ารางวัลจาก ASEAN Geospatial Challenge 2025

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ (GISTDA) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษาจากประเทศไทยจากโครงการพัฒนานักวิจัยรุ่นเยาว์ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร สร้างความภาคภูมิใจบนเวทีระดับนานาชาติ จากการแข่งขัน ASEAN Geospatial Challenge 2025 ซึ่งจัดขึ้นโดย GeoWorks ภายใต้ Singapore Land Authority โดยการแข่งขันครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมถึง 35 ทีม จากกลุ่มประเทศอาเซียน รวมผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 111 คน ซึ่งแต่ละทีมนำเสนอผลงานที่ใช้เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ (Geospatial Technology) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ส่งเข้าร่วมแข่งขัน 2 ทีม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ประกอบไปด้วย ทีม PhoenixReign จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และทีม Astrax Nova จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีสำรวจและภูมิสารสนเทศ และทั้ง 2 ทีมได้คว้ารางวัล Merit Award พร้อมรับเกียรติบัตรและเงินรางวัล

การแข่งขันครั้งนี้กำหนดให้แต่ละทีม ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจำนวน 2-4 คนจากสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน นำเสนอผลงานที่เป็นต้นฉบับและไม่เคยส่งเข้าประกวดหรือเผยแพร่เพื่อการพาณิชย์มาก่อน โดยแต่ละทีมต้องส่ง รายงานโครงการ (Project Write Up) และ โปสเตอร์สรุปผลงาน (Poster Submission) ซึ่งใช้เป็นสื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการต่างประเทศ โดยผลงานทั้งหมดจะต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ซึ่งการแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่ทดสอบความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยี แต่ยังส่งเสริมความร่วมมือและการแบ่งปันความรู้ระหว่างเยาวชนอาเซียน โดยทีม PhoenixReign นำเสนอระบบตรวจจับไฟป่าอัตโนมัติที่ผสานเทคโนโลยี IoT, GPS, และระบบคลาวด์ โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับควันจากการเผาไหม้เพื่อระบุตำแหน่งไฟป่าแบบเรียลไทม์ แสดงผลผ่านแผนที่ GIS บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือ อุปกรณ์ IoT ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกล และมีระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งอุปกรณ์ ระบบนี้สามารถช่วยหน่วยงานวางแผนป้องกันและจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทีมวางแผนผสานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอนาคตเพื่อคาดการณ์การเกิดและทิศทางของไฟป่า สนับสนุนเป้าหมาย SDG ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และทีมทีม Astrax Nova พัฒนาโครงการที่มุ่งศึกษาการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในพื้นที่นาข้าวของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาจากดาวเทียม Sentinel-2 เพื่อจำแนกพื้นที่นาข้าว และดาวเทียม Sentinel-5P เพื่อตรวจวัดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน พร้อมทั้งประมวลผลข้อมูลด้วยแพลตฟอร์ม Google Earth Engine (GEE) ผลงานนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการติดตามและวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจก ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ในการวางแผนจัดการน้ำในนาข้าวด้วยวิธีการ (Alternate wet and dry: AWD) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนในการเกษตร และสนับสนุนเป้าหมาย SDG ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความสำเร็จของทีม PhoenixReign และ Astrax Nova เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของนักศึกษาไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ การคว้ารางวัล Merit Award จากเวทีที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความหมายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของทั้งสองทีมไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ GISTDA มีแผนในการพัฒนาต่อยอดในด้านการสร้างความสามารถของเยาวชนไปสู่การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศและการพัฒนาประเทศต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.