สุดยอดเยาวชนไทย! กวาด 11 รางวัล บนเวที REGENERON ISEF 2025 ที่สหรัฐอเมริกา รร.ปรินส์รอยแยลส์ฯ คว้าอันดับ 1 โชว์ศักยภาพเด็กไทยเก่ง สร้างชื่อเสียงระดับโลก

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 ที่เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา : การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2025 (Regeneron International Science and Engineering Fair 2025) จัดโดย Society for Science ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งทีมเยาวชนไทย จำนวน 14 ทีม เข้าร่วมชิงชัยกับทีมเยาวชน 66 ประเทศทั่วโลก ราว 1,700 คน ในระหว่างวันที่ 10 – 16 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการแข่งขันฯ ปรากฏว่า รร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลที่ 1 สาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ กับ โครงงาน“ไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ” ที่พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้เบรลล์โดยใช้ AI ส่งเสริมความเท่าเทียมทั่วโลก! พร้อมทีมเยาวชนไทยสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการกวาดมาทั้งหมด 11 รางวัล ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 8 รางวัล และรางวัล Special Awards จำนวน 3 รางวัล รวมมูลค่า 18,400 ดอลลาร์สหรัฐ (เงินไทยประมาณ 620,000 บาท)

ผศ. ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ NSM กล่าวชื่นชมเยาวชนไทยทั้ง 14 ทีม ว่า “ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับเยาวชนทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทยได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นด้านทฤษฎี การประยุกต์ใช้ รวมทั้งการนำเสนอผลงานโดยใช้การสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความสามารถที่น่ายกย่อง ผลงานของเยาวชนไทยสามารถแสดงศักยภาพจนได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการศึกษา ค้นคว้า และทดลองอย่างต่อเนื่องของนักเรียน รวมถึงความทุ่มเทของครูที่ปรึกษาทุกท่าน เชื่อมั่นว่าทุกผลงานของเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในวงกว้างต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างคนและบุคลากรในสังคมให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต”

ด้าน รศ. ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวแสดงความยินดีว่า “ปีนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ NSM ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 8 ทีม โดยผลงานถูกคัดเลือกจากการประกวดจากค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20 (20th Thailand Young Scientist Festival, TYSF20) โดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในปีนี้ ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และหวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนต่อไป”

ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างขุมกำลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างขุมกำลังในด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจและเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในระดับนักเรียน เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ปีนี้ สวทช. ได้คัดเลือกทีมเยาวชนไทย จำนวน 6 ทีม จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27 (27th Young Scientist Competition, YSC 2025) ที่ สวทช. สนับสนุนตั้งแต่ปี 2542 โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาคของโครงการฯ จัดประกวดโครงงานในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 6 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรม ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต้องขอชื่นชมเยาวชนไทยทุกคนว่าสามารถทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม หวังว่าจะสามารถนำประสบการณ์ในครั้งนี้ไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป”
ผลงานเยาวชนสามารถคว้ารางวัล REGENERON ISEF 2025 ดังนี้ รางวัล Grand Award อันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่

– โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในสาขาเทคโนโลยีส่งเสริมศิลปะ กับ โครงงานไอเบรลล์ : การปฏิรูปการศึกษาเบรลล์อย่างเป็นระบบด้วย AI และเทคโนโลยีสัมผัสต้นทุนต่ำ เพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยมี นายศิวกร สุวรรณหงส์ นายปัณณวิชญ์ พลนิรันดร์ และน.ส.ศตพร ธนปัญญากุล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นางรุ่งกานต์ วังบุญ และ นายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัล Grand Award อันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่ – โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน การพัฒนานวัตกรรมฟองน้ำชีวภาพเพื่อลดพฤติกรรมการกินกันเอง สำหรับการอนุรักษ์ปูม้า และระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมี นายพิสิษฐ์ อาศิระวิชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ และนายอดิเรก พิทักษ์ เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กับ โครงงานการศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ โดยมี น.ส.พิมพ์พันดาว พุทธรักษ์ขิต และ นายธรรมพิสุทธิ์ เปรมสิงห์ชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.คณัสนันท์ พลรัตน์ และ ดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา
รางวัล Grand Award อันดับที่ 3 พร้อมเงินรางวัล 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่ – โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิกโดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และ นายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานการเพิ่มประสิทธิภาพของไส้เดือนฝอยในการควบคุมศัตรูพืชแบบชีวภาพ โดยมี นายบุริศ เบญจรัตนานนท์ และนายปภาวิน คงคติธรรม เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ น.ส.วนิดา ภู่เอี่ยม และ น.ส.สุวรรณา อัมพรดนัย เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมสูตรอาหารและปัจจัยแวดล้อม เพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายกษิเดช ศรีสุข น.ส.ธัญวรัตม์ จาตุรนต์ และนายพฤทธชาต คงสวัสดิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ประเทืองสุข มณีล้ำ เป็นครูที่ปรึกษา

รางวัล Grand Award อันดับที่ 4 พร้อมเงินรางวัล 600 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ทั้งหมด 2 รางวัล ได้แก่ – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต กับโครงงานการพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของพลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล โดยมี นายกฤตยชญ์ ไทยสุริยันต์ นายปราชญ์ อำพนธ์ และ น.ส.ปาณิศา สว่างสุรีย์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.สุภานันท์ สุจริต เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ในสาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงานนวัตกรรมใหม่แบบผสานวิธีเพื่อการขยายพันธุ์ และการอนุรักษ์ชันโรงดิน (Tetragonula collina) โดยมี นายธนวัฒน์ สมญาพรเจริญชัย นายธนกร สาคุณ และ นายณัฐชพน วงศาโรจน์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายสุธิพงษ์ ใจแก้ว และ นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร์ เป็นครูที่ปรึกษา

ขณะเดียวกันทีมเยาวชนไทยยังสามารถคว้ารางวัล Special Awards ได้อีก 3 รางวัล ได้แก่ – โรงเรียนกําเนิดวิทย์ จ.ระยอง คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จาก TUBITAK The Scientific and Technological Research Council of Türkiye พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการศึกษากระบวนการภายในของสมบัติการแปรเปลี่ยนด้วยแสงของธาตุวานาเดียมที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพภาวะความไม่ชอบน้ำของฟิล์มชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง โดยมี นายปองภพ แสงสว่าง น.ส.ชญาดา วิสุทธิรัตนมณี และ น.ส.ณิชาพัฒน์ อึ้งอารี เป็นผู้จัดทำโครงงาน ดร.ยุติชัย เหมือนเงิน ประทีปะเสน และ นางณัฐพุทธิญา ชวนะลิขิกร เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society พร้อมเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงาน BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก โดยมี นายปัณณวิชญ์ ธีรนันท์พัฒธน น.ส.วิภารัศมิ์ ธะนะวงศ์ และนายกฤตนน เมืองแก้ว เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา – โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จ.เชียงราย คว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 4 จาก American Chemical Society พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับโครงงานการสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาวซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด โดยมี นายธนัช ไชยมงคล เป็นผู้จัดทำโครงงาน นายธีรพัฒน์ ขันใจ และ รศ.ดร.บุษยรัตน์ ธรรมพัฒนกิจ เป็นครูที่ปรึกษา
โดยทีมเยาวชนไทยจะเดินทางกลับจากการแข่งขันถึงประเทศไทยในวันที่ 19 – 21 พ.ค. นี้ สามารถติดตามข่าวสารและร่วมแสดงความยินดีได้ที่เพจ FB: NSMTHAILAND