งานเฉลิมฉลอง 150 ปี ของสนธิสัญญาเมตริกและปีสากลแห่งควอนตัม (Celebration of the 150th Anniversary of the Metre Convention and the International Year of Quantum Science and Technology)

20 พฤษภาคม 2568: นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบหมายให้นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการ เนื่องในวันมาตรวิทยาโลกและเฉลิมฉลอง 150 ปี ของสนธิสัญญาเมตริกและปีสากลแห่งควอนตัม ภายใต้หัวข้อ  “การวัด เพื่อทุกคน ทุกเวลา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ลึกซึ้งในบทบาทของมาตรวิทยาและเทคโนโลยีควอนตัม สร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความตระหนักด้านมาตรวิทยาและเทคโนโลยีควอนตัมระดับนานาชาติ และกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมและการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับ

สถาบันมาตรวิทยาฯ ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร ซึ่งกิจกรรมในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากบุคคลสำคัญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่

  1. H.E. Mr. Jean-Claude Poimboeuf เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจําประเทศไทย
  2. Dr. Martin J. T. Milton, Director of the International Bureau of Weights and Measures (BIPM), France
  3. นายเทพภิญโญ  โคตรนนท์ ผู้อำนวยการกองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์
  4. Dr.-Ing. Frank  Lienesch, Physikalisch-Technische Bundesanstalt, Germany
  5. Dr. Takehiro Morioka, National Metrology Institute of Japan, Japan
  6. ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

พร้อมทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ซึ่งจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ประกอบไปด้วยนิทรรศการ 4 โซน คือ โซน 1: สนธิสัญญาเมตริกและวิวัฒนาการระบบการวัดไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ก่อนที่ประเทศไทยจะลงนามในสนธิสัญญาเมตริก โซน 2: พัฒนาการของระบบหน่วยเอสไอ โซน 3: มาตรฐานการวัดแห่งชาติ และโซน 4: การวัดเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ยั่งยืน

150 ปี สนธิสัญญาเมตริก: รากฐานของการวัดสู่อนาคตควอนตัม

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ถือเป็นวันสำคัญระดับโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีของ “สนธิสัญญาเมตริก” (Metre Convention) ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้ระบบการวัดมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งลงนามครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) โดยมีประเทศผู้ริเริ่ม 17 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิกกว่า 80 ประเทศ สนธิสัญญานี้ถือเป็นรากฐานของระบบการวัดสากล และมีบทบาทสำคัญต่อการค้า วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ระบบการวัดที่เป็นหนึ่งเดียวช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถซื้อขายสินค้า ทำวิจัย หรือพัฒนานวัตกรรมได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านหน่วยวัด นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรเพื่อการควบคุมขึ้น 2 องค์กร คือ General Conference for Weights and Measures (CGPM) และ International Committee for Weights and Measures (CIPM) พร้อมห้องปฏิบัติการ ระหว่างชาติอีกหนึ่งแห่ง คือ International Bureau of Weights and Measures (BIPM) สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เมือง Sevres ใกล้กับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอีกหลายคณะ ซึ่งได้รับการจัดตั้งภายหลังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในสาระทางวิชาการแก่ CIPM ในมาตรวิทยาหลายสาขา ซึ่งร่วมกันดูแลและพัฒนาระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศ หรือ SI Units ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติด้านมาตรวิทยาและเข้าเป็นสมาชิกของ The Metre Convention ในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) และอีก    11 ปี ต่อมา ใน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรวิทยาฉบับแรก  คือ พระราชบัญญัติ ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 สาระสําคัญในพระราชบัญญัติ ดังกล่าว คือ ประเทศไทยยอมรับระบบเมตริกเป็น ระบบการวัดของชาติ

ในปี 2568 นี้ องค์การ UNESCO ยังประกาศให้เป็น “ปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม” (International Year of Quantum Science and Technology) เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเป็นวิทยาการที่พลิกโฉมความเข้าใจของมนุษย์ต่อธรรมชาติ และเปิดทางสู่เทคโนโลยีล้ำยุค เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารเชิงควอนตัม และอุปกรณ์วัดที่มีความแม่นยำสูงยิ่ง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อระบบ SI ได้ปรับนิยามหน่วยวัดหลักหลายรายการ เช่น กิโลกรัม วินาที และเคลวิน ให้เชื่อมโยงกับค่าคงที่ทางธรรมชาติ เช่น ค่าคงที่แพลงก์ (Planck constant) แทนการอ้างอิงวัตถุต้นแบบ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการวัดให้สอดคล้องกับฟิสิกส์ควอนตัม และพร้อมรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต

พลตำรวจโท นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ในนามของคณะผู้จัดงาน ได้กล่าวในงานว่า

“เรากำลังอยู่ในยุคสมัยของวิกฤติและการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและแปรปรวน อันเป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาด ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม แรงงาน สังคมและความมั่นคงอย่างใหญ่หลวงต่อไป เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีชีวสังเคราะห์ และเทคโนโลยีควอนตัม ในอีกด้านหนึ่ง ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งจะสร้างความกดดันให้แก่ประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แม้จะสร้างความท้าทายให้แก่ระบบการวัด แต่ในนามองค์กรที่พัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ ขอยืนยันว่า

  1. ระบบมาตรวิทยาของประเทศไทยมีความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบการวัดระหว่างประเทศ มีความสามารถที่จะปรับตัวให้สามารถรองรับความต้องการใช้ประโยชน์ของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนนโยบายทางการค้า เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของรัฐบาล
  2. เราจะดำเนินการวิจัยมาตรฐานการวัดระดับสูง พัฒนาความสามารถทางการวัด และพัฒนาการนำความสามารถทางการวัดไปส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความสามารถในด้านต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งของภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐ”

โอกาสครบรอบ 150 ปีของสนธิสัญญาเมตริกจึงไม่ใช่แค่การย้อนรำลึกถึงอดีต หากแต่เป็นการมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่า “การวัด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่คือพื้นฐานของนวัตกรรม ความยั่งยืน และความร่วมมือระดับโลกในศตวรรษที่ 21

สำหรับท่านที่สนใจพันธกิจและบริการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ช่องทางสื่อสารออนไลน์

ติดตามข้อมูลข่าวสาร มว.

Leave a Reply

Your email address will not be published.