GISTDA วางแผนพัฒนากลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกของไทยเพื่อพัฒนาประเทศ

9 กรกฏาคม 2568 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดงานสัมมนา “กลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทยกับการพัฒนาประเทศ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีวัตถุประสงค์ให้หน่วยงานต่างๆ กว่า 35 หน่วยงาน ได้รับรู้ถึงผลการศึกษาจากการรวบรวมความเห็นของผู้ใช้งานข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมด้านเกษตรกรรม ภัยพิบัติ ความมั่นคง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ข้อมูลดาวเทียมในการบริหารจัดการภารกิจของตนเอง โดยมี นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ GISTDA เป็นประธานในการสัมมนาครั้งนี้ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานครฯ

นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศและให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม THEOS-2 แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัจจุบัน GISTDA ได้พัฒนาโครงการสร้างความต่อเนื่องดาวเทียม THEOS-3 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำ Engineering Model และมีแผนจะประกอบ Flight Model ของ THEOS-3 ในระยะถัดไป

ปัจจุบันเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจโลกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การติดตามและเตือนภัยพิบัติ การวางผังเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและความยั่งยืนของประเทศ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา GISTDA ได้จัดสัมมนารวบรวมความคิดเห็นไปแล้ว จากผลการศึกษาความต้องการผู้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม พบว่า ดาวเทียมที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งในเรื่องระยะเวลาการเข้าถึงพื้นที่เดิมของดาวเทียมที่มีระยะเวลานาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการถ่ายภาพของดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพได้เฉพาะเวลากลางวัน และ ไม่สามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของดาวเทียมระบบ Optical sensors

รองอำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญและเร่งด่วน GISTDA ต้องเตรียมการดำเนินการรองรับการพัฒนาดาวเทียมระยะยาว จึงได้เริ่มเตรียมแผนการพัฒนากลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกของประเทศไทย (Thailand’s Earth Observation Satellite Constellation) เพื่อจัดหากลุ่มดาวเทียมทั้งระบบ Optical และ SAR Sensors ให้มีปริมาณเพียงพอในการสนับสนุนภารกิจต่างๆของประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานด้านเกษตร ภัยพิบัติ ความมั่นคง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการข้อมูลดาวเทียมที่ตอบสนองต่อผู้ใช้งานทุกระดับ

อีกทั้ง ยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศไทยโดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้งานดาวเทียมเชิงลึก ผลักดันกลยุทธ์เน้นการเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตัวเองในอนาคต แต่เทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังต้องมีการพึ่งพาจากต่างประเทศในบางอย่าง อาทิ การดำเนินโครงการนี้จะมีการถ่ายทอดด้านการพัฒนาดาวเทียมขั้นสูงของระบบ Sensor ต่างๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายแบบชดเชย หรือ Offset ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือได้รับการฝึกอบรมพิเศษจากต่างประเทศ เพื่อให้เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.