เนคเทค สวทช. จัดการประกวดเพื่อเฟ้นหา นักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ (Young Electronics Technologists and Innovators: YETI 2021)

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ได้จัดการประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ (Young Electronics Technologists and Innovators: YETI) ประจำปี 2564 แข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงทุนพัฒนาผลงานและเงินรางวัลมูลกว่า 1.5 แสนบาท ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้ธีม: พลังงานและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในประยุกต์องค์ความรู้ด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ให้สามารถพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม โดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมหน่วยงานพันธมิตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงาน 12 แห่ง โรงเรียนกว่า 50 แห่ง ที่ร่วมสนับสนุนการจัดประกวดในปีนี้

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวทช.  ได้กำหนดให้การพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช. โดยกิจกรรมหนึ่งที่ สวทช. เนคเทค ร่วมสนับสนุนในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คือ การจัดค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์    รุ่นเยาว์ หรือ eCamp ตลอดจนการประกวดสำหรับเยาวชนที่ผ่านค่าย eCamp เพื่อเฟ้นหาเยาวชนยอดนักอิเล็กทรอนิกส์ไทย ในเวทีประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นเวทีการประกวดโครงงานสำหรับกลุ่มเยาวชน นักเรียน ครู นิสิต และนักศึกษา  ที่ได้บูรณาการความรู้จากค่ายฯ ด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ผนวกความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking มาประยุกต์พัฒนาเป็นขึ้นเป็นผลงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง หรือเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนไทยเกิดความตื่นตัวและหันมาพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันมากขึ้นอีกด้วย

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า การจัดประกวดผลงานเยาวชนที่ผ่านค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์    รุ่นเยาว์ หรือ eCamp ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 19 ปี  โดยได้ปรับเปลี่ยนชื่อ และรูปแบบกิจกรรมตามสถานการณ์ จาก การแข่งขันประกวดประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ YECC  การประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ YETI  ในระยะ 2 ปีให้หลังนี้ แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญของกิจกรรมนี้ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และครู ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำความรู้ และประสบการณ์ด้านฮาร์ดแวร์ อนาล็อก และดิจิทัล มาประยุกต์กับซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิด และดำเนินการอย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีโอกาสนำผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาบุคลากรสู่อุตสาหกรรมภาคอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

นางสาวตติยา สาครพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ(กฟผ.) ทาง กฟผ.มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนเยาวชนได้พัฒนาทักษะการเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะสร้างประโยชน์แก่โลกของเรา โดยเฉพาะนวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กฟผ. เองกว่า 52 ปีที่เราได้เป็นผู้ดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ก็ได้มุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรม EV ต่าง ๆ เช่น รถ/เรือ สถานีชาร์จ ร่วมกับพันธมิตรมากมาย ยินดีอย่างยิ่งที่เรามีพันธมิตรที่เหนียวแน่นเพิ่มขึ้น และได้พลังจากน้อง ๆ เยาวชนมาช่วยกันรวมพลังขับเคลื่อนประเทศ พร้อม ๆ ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับภารกิจของ กฟผ. เพื่อไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อลมหายใจแห่งอนาคตของเราทุกคน

สำหรับในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 500 คน ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวด 21 ทีม และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 15 ทีม  รวม 60 คน เป็นนักเรียน 30 คน ครู 15 คน และนิสิต นักศึกษา 15 คน 

โดยผู้แข่งขันจะต้องสร้างสรรค์โครงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำความรู้ หลักการ ทฤษฎีทางอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์หรือความรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้เกิดการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ สำหรับการพัฒนาท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันเรื่อง พลังงาน และ สิ่งแวดล้อมรอบตัว

พลังงาน เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มาพัฒนาผลงานเพื่อ “การผลิตพลังงานทางเลือก” “เพื่อลดการใช้พลังงาน” หรือ “เพื่อบริหารจัดการ พลังานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

สิ่งแวดล้อมรอบตัว  เป็นการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ ได้แก่ การแก้ปัญหา PM 2.5 หรือตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำนายพฤติกรรมบางอย่าง เช่น สถานีวัดอากาศที่ทำให้สามารถคำนวณการจัดการเรื่องน้ำในการเกษตรได้ เป็นต้น

ผลการแข่งขัน การประกวดนักเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรุ่นเยาว์ (Young Electronics Technologists and Innovators: YETI) ประจำปี 2564

  • รางวัล Popular ได้รับของรางวัลรวมมูลค่า 2,000 บาท

โครงการสุขาแห่งความสุข จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้พัฒนา  ด.ช.อริยะ ถาวรวงษ์ และด.ช.พรรษกร นักฟ้อน       

ครูที่ปรึกษา นางสาวระวิวรรณ ทิพย์พันธ์

อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.ปรมินทร์ เณรานนท์ และผศ.ดร.ดุจดาว บูรณะพาณิชย์กิจ

            จากปัญหาห้องน้ำสาธารณะโดยทั่วไปมักจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น และมีการเปิดหลอดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดการสิ้นเปลือง พลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้จัดทำจึงมุ่งเน้นพัฒนาระบบอัตโนมัติ ในการเปิดไฟ กำจัดกลิ่น และเพิ่มสุนทรียภาพในการใช้ห้องน้ำโดยมีเพลงบรรเลงเมื่อมีการเข้าใช้ห้องน้ำ ทำให้ผู้ใช้ห้องน้ำ สามารถเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะได้อย่าง มีความสุข ระบบอัตโนมัติที่ใช้จะแก้ไขปัญหาหลักๆ ของการเข้าใช้ห้องน้ำสาธารณะ ได้แก่ การกำจัดกลิ่น การประหยัดพลังงานไฟฟ้า และการเพิ่มสุนทรียภาพในการเข้าใช้ห้องน้ำผ่านเสียงดนตรี

  • รางวัลพิเศษจาก EGAT Special Award ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 8,000 บาท

โครงการระบบป้องกันไฟป่า (Watch Eagle Forest Fire Protection System) จากมหาวิทยาลัยบูรพา

ผู้พัฒนา   ด.ช.วรพล  สุเมธโสภณ และด.ช.กฤษฎ์  เทพพันธ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน  นายรุ่งขจร  โลเกตุ โรงเรียนวัฒนานคร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว    

      ระบบป้องกันไฟป่า Watch  Eagle เป็นระบบที่มีส่วนประกอบการทำงาน 3 ส่วน  คือ  1. ระบบเฝ้าติดตามและ ตรวจจับแบบ real time วัดอุณหภูมิและความชื้น+GPSหรือภาพถ่ายโดยใช้ UAV ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนและควัน       2.ระบบสั่งการและแจ้งเตือนใช้บอร์ด KidBright ระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน NB-IoT ระบบเก็บข้อมูลผ่าน NETPIE 3.ระบบดับไฟจำลองปั้มน้ำ +สปริงเกอร์ วัตถุประสงค์ของระบบป้องกันไฟป่า (Watch Eagle Forest Fire Protection System) ดังกล่าวเพื่อศึกษาประสิทธิภาพและการทำงานของระบบดับไฟป่า เพื่อศึกษาการเขียนโปรแกรมของบอร์ด สั่งการทำงานของบอร์ด KidBright  และศึกษาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน NB–IoT และระบบ NETPIE

  • รางวัลชมเชยอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท

โครงการกล่องอัจฉริยะช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยเมื่อเกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำ

ผู้พัฒนา ด.ช.จิรภัทร  แก้วด้วง และด.ช.ธนาทรัพย์  ภู่ทิม

ครูที่ปรึกษาโครงงาน นางสาว เกศทิพย์ จ้อยศิริ  โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.ดุสิต ธนเพทาย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

จากการศึกษาทางคณะผู้จัดทำพบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยในขณะที่เข้าห้องน้ำนั้น อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องมาจากปัญหา ด้านสุขภาพเองของผู้สูงอายุ หรือปัญหาห้องน้ำที่ชำรุดต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้สูงอายุและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทางคณะผู้จัดทำได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำสิ่งประดิษฐ์กล่องอัจฉริยะช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วย ขณะเกิดอุบัติเหตุ ในห้องน้ำเพื่อช่วยในการแจ้งเตือนให้กับผู้ดูแล ในการใช้ห้องน้ำเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น และลดความรุนแรงที่เกิดกับตัวผู้สูงอายุ และผู้ป่วย .

  • รางวัลชมเชย อันดับ 1 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท                           

โครงการไม่แตะก็ติดสวิตช์อัจฉริยะ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้พัฒนา  ด.ญ.ณัฐณิชา เซียห้วน และน.ส.ฤทัยชนก เกษตรเจริญ

นักศึกษาพี่เลี้ยงโครงงาน  นายชาคริต แอสบิลลี่

อาจารย์ที่ปรึกษา  นายเทียนชัย สังขพันธ์

            พลังงานมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ จึงทำให้เกิดปัญหาการใช้พลังงานไป อย่างสิ้นเปลือง ซึ่งหนึ่งสาเหตุของปัญหาการใช้พลังงานสิ้นเปลืองมาจากการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ หรือการเปิดไฟในขณะที่มีแสงสว่างเพียงพอ และในปัจจุบันยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งของการติดเชื้อ มาจากการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ หรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน อย่างเช่น การเปิด-ปิดสวิตช์ การเปิด-ปิดก๊อกน้ำ เป็นต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้จัดทำจึงมุ่งเน้นพัฒนาสวิตช์อัจฉริยะขึ้น

รางวัลที่ 3  ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท

 โครงการระบบรับชื้อขวดพลาสติกอัตโนมัติ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

ผู้พัฒนา  ด.ญ.ธนัชชา แก้วมีสี และด.ญ.สุภัทรา ไร่รัตน์

จาก โรงเรียนอนุกูลนารี

อาจารย์ที่ปรึกษา  นางสาวรมิตา พิมพะไสย์

            ปัญหาขยะขวดพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาในโรงเรียนอนุกูลนารีที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากนักเรียน มักนำขยะขวดพลาสติกไปทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่นๆ ทำให้ขวดเปรอะเปื้อน ยากต่อการคัดแยก โรงเรียนจึงได้จัดตั้งธนาคารขยะ ขึ้นมาเพื่อรับซื้อขวดพลาสติก ซึ่งเปิดทำการเป็นเวลา มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ   และนักเรียนจะต้องสะสมขวดให้ได้เป็นจำนวนมาก ถึงจะนำไปขายได้ ทำให้การขายไม่สะดวกและสิ้นเปลืองพื้นที่ จัดเก็บขวดในห้องเรียน นักเรียนจึงไม่ค่อยนำขวดพลาสติกไปขาย กลุ่มผู้พัฒนาจึงมีแนวคิดที่จะทำให้การขาย ขวดพลาสติกทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น  โดยจัดทำระบบรับซื้อขวดพลาสติก อัตโนมัติ ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการขายขวดน้ำพลาสติก สามารถขายได้ตลอดเวลาไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ในการสะสม ขวดพลาสติก

  • รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท

โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพถังหมักก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ด้วยระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้พัฒนา ด.ญ.นาง  คำจันทร์, น.ส.สุทัตตา  คำแก้ว

ครูที่ปรึกษา ว่าที่ ร.ต.สุวิชา  จิตบาล

โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์

ด้วยปัญหาของโรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ที่มีนักเรียนจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารแล้วจะมีเศษอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดการกับเศษอาหารนั้น ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ ประกอบกับที่โรงเรียนมีห้องเรียนคหกรรม จึงสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ในการเรียนในรายวิชาคหกรรมได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณ และยังใช้พลังงานหมุนเวียนมาช่วยในการผลิตก๊าซชีวภาพด้วย

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ในถังหมักก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก โดยการควบคุมค่า pH ให้อยู่ระหว่างค่า 6.5 – 7.5 ค่าอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง   35 – 55 องศาเซลเซียส ควบคุมการกวนใบพัด วันละ 2 ครั้ง เวลา 6.00 น. และเวลา 18.00 น. ครั้งละ 10 นาที และใช้เศษอาหารเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ

  • รางวัลที่ 1 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า  30,000 บาท

โครงการ GreenWaste : make microgarden happen จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้พัฒนา ด.ญ. ภิญญดา แก้วเกตุ และ ด.ช. องอาจ ศุภรัศมี

อาจารย์ที่ปรึกษา นายอภิรัตน์ เบญจวรรณ

โรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย

เครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ที่ใช้เวลา 20 ชั่วโมง “GreenWaste” ผู้พัฒนาได้เห็นถึงความสำคัญในการที่จะช่วยกันลดขยะจากเศษอาหาร แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทางเราได้มองเห็นซึ่งจะนำไปใช้ในครัวเรือน เริ่มต้นจากตัวเรา เพื่อช่วยลดการเกิดขยะ ช่วยในการลดต้นทุนในการปลูกผักสวนครัว และลดเรื่องเวลาได้มาก เราอยากให้เศษอาหารที่ทานเหลือในแต่ละมื้อ แต่ละวัน สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงได้เริ่มที่จะสร้างโปรเจคนี้ขึ้นมา ที่มีชื่อว่า GreenWaste ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และนำไปใช้ได้ทุกที่ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด โดยเทคโนโลยีที่มาใช้ Internet of Thing มาควบคุมการทำงานและแสดงผล อยู่ที่ไหนก็สามารถตรวจสอบได้ ง่ายต่อการใช้งาน

Leave a Reply

Your email address will not be published.