วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ผลิตภัณฑ์รักษาพิษแมงกะพรุนจากผักบุ้งทะเล สู่เชิงพาณิชย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานวิจัยพัฒนาสนับสนุนการพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ ลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ผลิตภัณฑ์รักษาพิษแมงกะพรุนจากผักบุ้งทะเล” สู่เชิงพาณิชย์ ระบุวัตถุดิบปลูกในพื้นที่ทะเลมีความเข้มข้นสารสกัดสูง ให้ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำลายพิษแมงกะพรุนและรักษาแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การดำเนินงานของ วว. นอกจากการวิจัยและพัฒนา บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แล้ว การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน พร้อมผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นเป้าหมายสำคัญที่ วว. มุ่งขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์รักษาพิษแมงกะพรุนจากผักบุ้งทะเล” เป็นหนึ่งในหลากหลายผลงานเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย ที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการพึ่งพาเทคโนโลยีในประเทศและลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ สร้างงานสร้างเงินตลอดห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ผักบุ้งทะเล เป็นพืชที่พบมากตามชายฝั่งทะเลเขตร้อนทั่วโลก ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้พืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรรักษาพิษบาดแผลที่เกิดจากแมงกะพรุน โดยใช้น้ำที่คั้นจากใบพอกลงบนบาดแผลที่ถูกแมงกะพรุน และน้ำต้มจากใบยังใช้อาบแก้คันได้ด้วย
วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประสบผลสำเร็จในการศึกษากระบวนการสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางยาของผักบุ้งทะเลพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบ มีคุณสมบัติด้านฤทธิ์ฮีสตามีนและพิษแมงกระพรุน จากการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัย และได้ศึกษาผลทางคลินิกของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากน้ำมันหอมระเหยผักบุ้งทะเล ด้วยความร่วมมือจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผลิตภัณฑ์มีผลรักษาแผลในผู้ป่วยจากพิษแมลงกัดต่อยและจากพิษแมงกระพรุนในทุกระดับได้เป็นที่น่าพอใจ
และ วว. ได้ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน ศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบผักบุ้งทะเล มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านพิษแมงกะพรุนได้ดีโดยยับยั้งการทำลายโปรตีน (Proteolytic) และ hemolytic ของพิษแมงกะพรุน การศึกษาทางเคมีพบว่า ในน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วยสารออกฤทธิ์สำคัญหลายสาร เช่น ยูจีนอล (Eugenol) บีต้า-ดามาสซีโนน (β-damascenone) และ อี-ไฟทอล (E-phytol) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการปลูกผักบุ้งทะเลในขั้นกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาคุณภาพของวัตถุดิบ และประเมินความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาน้ำมันหอมระเหยขึ้นสู่ขั้นอุตสาหกรรมพบว่า ผักบุ้งทะเลที่ปลูกในพื้นที่ทะเล จะมีความเข้มข้นของสารสกัดมากกว่าการปลูกในพื้นที่ที่ห่างจากทะเล วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ผลิตภัณฑ์รักษาพิษแมงกะพรุนจากผักบุ้งทะเล” สู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 หรือที่ E- mail : tistr@tistr.or.th