วว. ยกระดับศักยภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ด้วย วทน.
ศ. (ดร.) ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมออนไลน์เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว” ซึ่ง วว. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2564 โดยการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก้ไขปัญหาและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง ภายใต้การดำเนิน โครงการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการกับ มรภ. ในวันที่ 27 กันยายน 2564 ผ่าน Zoom Meeting, Facebook Live TISTR , วว. เพื่อชุมชน
กิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย วว. ที่มีความเชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อที่เป็นประโยชน์จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร การยกระดับบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทย การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย. การยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว การยกระดับผลิตภัณฑ์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวและการรับรองระบบคุณภาพการผลิตอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ด้าน GMP กฎหมาย ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน และยังสอดรับกับความร่วมมือกันระหว่าง วว. มรภ.และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ในการนำศักยภาพองค์ความรู้และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ศ. (ดร.) ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า วว. เล็งเห็นความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีศักยภาพ มาตรฐาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองระบบคุณภาพกระบวนการผลิต มาตรฐานเกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน
“ปัญหาหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่พบคือ เรื่องของมาตรฐานหรือการรับรอง หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่มีการรับรองคุณภาพก็จะจำหน่ายสินค้าได้ในวงจำกัด ดังนั้นการยกระดับสินค้าชุมชน OTOP จะสามารถช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพที่สามารถจำหน่ายในตลาดได้อย่างมีมาตรฐาน ในการนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำระบบมาตรฐานคุณภาพไปช่วยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. หรือ อย. และยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยการตรวจประเมินสถานที่ผลิตและการรับรองระบบมาตรฐานการผลิต การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ได้มาตรฐาน ด้วยการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว ตามมาตรฐานกรมการท่องเที่ยวและมาตรฐานฟาร์ม ตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว