สทป.ส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 ให้ราชอาณาจักรภูฏาน

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 โดยเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขั้นการวิจัยพัฒนา จนถึงขั้นการผลิตและจำหน่าย เพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานอื่นของรัฐ และภาคเอกชน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 (S – Curve ที่ 11) ของรัฐบาล เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”     ด้วยการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกับ บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด วิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางแบบ 4×4 เพื่อผลิตและขายยานเกราะล้อยางทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้มีการร่วมจัดตั้ง “บริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด” โดย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุน บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ในการผลิตและขายยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 และกำหนดจัดพิธีส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 จำนวน 15 คัน ที่บริษัทผลิตขึ้นภายในประเทศ ให้กับรัฐบาลราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อนำไปใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพ ณ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ และการพึ่งพาตนเองด้านยุทโธปกรณ์ของประเทศไทย

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องมีสุข อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ร่วมกับบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์รับเบอร์ จำกัด จัดพิธีส่งมอบยานเกราะ ล้อยางแบบ 4×4 ให้ราชอาณาจักรภูฏาน โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี โดยมี พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นผู้แทนส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4x4 ให้กับ นายคินซัง ดอร์จิ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏาน ประจำประเทศไทย และ พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการส่งมอบ โดยภายในงานได้มี พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม  พลเอก พลภัทร วรรณภักตร์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ผู้แทนเอกอัครราชทูต 6 ประเทศ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยาน

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้จัดงานในวันนี้ขึ้นเพื่อส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 ให้กับราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อนำไปใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลางในห้วงเดือนธันวาคมนี้ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 นั้น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการให้บริการทางวิชาการและเทคนิคด้วย

ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกับบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ในการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางแบบ 4×4 เพื่อผลิตและขายยานเกราะล้อยางให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้มีการร่วมจัดตั้งบริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด ตั้งแต่ 28 กันยายน 2564 โดยการส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 ให้กับราชอาณาจักรภูฏาน จำนวน 15 คัน ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่ารัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาต่อยอดและเพิ่มขีดความสามารถของทุกภาคฝ่ายในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ความสำเร็จในการส่งมอบยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 ให้ราชอาณาจักรภูฏาน โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ร่วมกับบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ในวันนี้ ถือเป็นความสามารถของคนไทยที่แสดงถึงศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาได้อย่างชัดเจน และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนเชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ก่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการนำเข้าหรือการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งยังเกิดความคุ้มค่าด้านความมั่นคง ตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงความคุ้มค่าด้านการเมือง ก่อให้เกิดพันธมิตรทางยุทธศาสตร์บูรณาการและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือตามแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม

Leave a Reply

Your email address will not be published.