วช.ปลื้มโชว์นวัตกรรม “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” รางวัลระดับนานาชาติ
นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โชว์นวัตกรรม “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” รางวัลระดับนานาชาติ นวัตกรรมถูกและดี ช่วยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย
วันนี้ (24 พฤศจิกายนน 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดเวทีเสวนา Research Expo Talk ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ครั้งที่ 16” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 วช. เปิดตัว “เครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง” ผลงานวิจัย นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการเสวนา Research Expo Talk ณ เวที Mini Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้อว.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผู้ใช้ประโยชน์แล้วจำนวนมาก โดยนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่มาจัดแสดงในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 วช.ได้ให้การสนับสนุนในการส่งเข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติและได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยสมาคม OFEED แห่งประเทศโมร็อกโก นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะตัวแทนประเทศไทยในเวทีระดับ นานาชาติ
นายแพทย์อานนท์ จำลองกุล เปิดเผยว่า ที่มาของนวัตกรรมชิ้นใหม่นี้เกิดจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่นควันค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้การนำเข้าแผ่นกรอง Hepa filter จากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและต้องมีการบำรุงรักษา จึงคิดอยากจะทำเครื่องกรองอากาศสำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ปิดและพื้นที่เปิด โดยมีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำและไม่ต้องใช้แผ่นกรองที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เลยกลายเป็นต้นแบบเครื่องกรองอากาศ “บุ๋งบุ๋ง” ซึ่งที่เป็นผลงานพัฒนาเครื่องรุ่นที่3 โดยรุ่นที่ 1 ทำการทดสอบเปรียบเทียบกับเครื่องฟอกอากาศชนิดอื่นๆ และดูว่าตัวไหนที่ได้ผลดีจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องฟอกอากาศรุ่นที่ 2 ได้รับรางวัลจากการประกวดที่ประเทศตุรกี
เครื่องรุ่นที่ 3 มีหลักการทำงานโดยดึงอากาศลงไปในน้ำ จากนั้นอากาศจะลอยพ้นน้ำมาอีกด้าน ซึ่งจะมีตัวดักฝุ่น ดักฟองน้ำที่จะลอยคืนกลับให้ฟองน้ำแตกตัว โดยใช้แผ่นฟองน้ำ โดยไม่ให้ฟองอากาศลอยกลับไปอีกด้านและดูดอากาศกลับคืนสู่บรรยากาศ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องรุ่นที่ 1 เป็นขนาดประมาณ 1 ฟุต รุ่นที่ 2 เป็นหลักการดันอากาศลงไปในน้ำด้วยปั๊มลมและมีอากาศกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่ง แต่ตัวที่ 2 พบว่ายังให้ความชื้นค่อนข้างมาก กรองอากาศได้ แต่คืนความชื้นกลับมาด้วย รุ่นที่ 3 จึงปรับจากปั๊มลมที่ดันอากาศลงน้ำมาเป็นพัดลมอัดอากาศที่ดูดอากาศออกจากน้ำซึ่งช่วยลดแรงต้านทานออกจากน้ำ
เครื่องรุ่นล่าสุด มีการแสดงผลมลภาวะทางอากาศผ่านจอ LCD ที่ตัวเครื่องและผ่าน LINE application และสามารถสั่งการเปิด-ปิดเครื่องผ่าน LINE application ได้ ในการใช้งานเปิดไฟเลี้ยงไว้และมีการตั้งค่าป้องกันฝุ่นPM2.5 ในสิ่งแวดล้อมไว้ที่ระดับ 50 เซนเซอร์หรือไมโครคอนโทรลเลอร์ จะคอยวัดระดับปริมาณฝุ่นPM 2.5 ไม่ให้เกิน 50 ถ้าเกิน 50 ไมโครคอนโทรลเลอร์จะสั่งการไปที่พัดลมดูดอากาศ เครื่องจะทำงานต่อเนื่องและจะหยุดทำงานเมื่อค่าฝุ่นต่ำกว่าระดับ 50
ทั้งนี้อัตราการดูดอากาศของปั๊ม 900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง 2 ตัวรวม 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถใช้งานในพื้นที่วัดความสูงจากพื้นถึงเพดาน 2-3 เมตรเป็นพื้นที่ประมาณ 100-500 ตารางเมตร แต่ค่าที่แน่นอนยังต้องทำการทดสอบวัดค่าอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ (CADR) และการทำสอบทางไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างรอทุนสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่อง นอกจากเครื่องฟอกอากาศจะช่วยทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดแล้วเชื่อว่ายังจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้ จากการวัดค่าฝุ่นที่เครื่องสามารถกรองได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ PM0.3-0.10 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดPM 0.125 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าฝุ่น PM 0.1 เครื่องวัดในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถวัดได้ แต่จากผู้คนที่เดินไปมา เชื้อไวรัสมีการปะปนออกมากับละอองน้ำลายที่มีขนาดเกินกว่า PM 0.3 จึงคาดการณ์ว่า จะสามารถกรองหรือฆ่าเชื้อได้
นายแพทย์อานนท์ กล่าวต่อว่า ต้นทุนการพัฒนาเครื่องต้นแบบรุ่นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะอยู่ระหว่าง 20,000 -30,000 บาทหรือต่ำกว่านี้ได้ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกทั้งค่าน้ำและค่าไฟไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งสามารถปรับทำให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามที่ต้องการได้ เวลานี้มีการจดอนุสิทธิบัตรกระบวนการทำงานไว้แล้ว และจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและการทดสอบทางไฟฟ้าจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อนำผลงานเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาระดับนานาชาติต่อไป ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารเผยแพร่ให้ประชาชนและนักวิชาการสามารถอ่านได้ และหากต้องการทราบรายละเอียดหรือเจรจาซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาสามารถติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้
อนึ่งเครื่องฟอกอากาศด้วยน้ำ เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นประกาศเกียรติคุณระดับเหรียญทอง จากเวที ” Innovation Week in Africa” (IWA 2021) จัดขึ้นโดยประเทศมร็อกโก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ณ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก และได้รับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จากบทความวิจัยเรื่อง Semi-outdoor filterless air purifier for smog and microbial protection with water purifier system ในวารสาร Environmental research ซึ่งอยู่ในฐาน Scopus ระดับ Q1 อีกด้วย