พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เปิดงาน “วิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” พร้อมหารือความร่วมมือทางวิชาการกับ วว.

          พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดขึ้น เพื่อแสดงผลสำเร็จการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตอบโจทย์ภาคการเกษตรของประเทศ ผ่านโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้โครงการ พ.ร.ก.เงินกู้ และโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตรโดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตชีวภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมตามหลักการเกษตรปลอดภัย และเป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือการสนับสนุนทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ วว. ช่วงปี พ.ศ. 2566-2570   ในวันที่  28  ธันวาคม 2564  ณ  วว.  เทคโนธานี  คลองห้า  จังหวัดปทุมธานี

          พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง  กล่าวว่า  การดำเนินงาน BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของ วว. เป็นแนวคิดที่ดีและสมควรยิ่งที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานให้ขยายผลมากยิ่งขึ้น  ขอขอบคุณ วช. ที่เห็นความสำคัญของการนำองค์ความรู้เกษตรกรรมไปช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน รวมทั้งขอขอบคุณ วว. ที่ได้ระดมสรรพกำลัง นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันมีประโยชน์ไปช่วยดำเนินงานโครงการจนประสบผลสำเร็จ จึงเห็นได้ว่า เมื่องบประมาณ กำลังคน และองค์ความรู้มาบรรจบกัน สามารถสร้างผลงานให้กับชุมชนและเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะการดำเนินงานไม้ดอก ไม้ประดับนั้น มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนา ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อให้เกษตรกรหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย แล้วหันมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวทดแทน ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมว่า การปลูกไม้ดอกไม้ประดับนั้น สามารถเพิ่มมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ได้สูงกว่าพืชชนิดอื่น

“โครงการหลวง และ วว. ได้ดำเนินงานมาในทิศทางเดียวกัน  อันจะสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงให้แก่ประเทศ ผ่านการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน  ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   ตามแนวพระราชดำริใน   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่พวกเราได้ยึดมั่นในการดำเนินงานเสมอมา การหารือความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ชัดเจน เพื่อการพัฒนาโครงการหลวงในทุกมิติ ครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม” พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง   ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอก ไม้ประดับ ด้วยนวัตกรรมเกษตร ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.ว่า วช. มอบหมายให้ วว.  เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการฯ  เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง มุ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในการช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิมและเป็นแหล่งวิทยาการแห่งการเรียนรู้  สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม  ในปี 2564 ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดเลย เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน  4  กิจกรรมย่อย คือ  1.การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.การพัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ  3.การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ  และ 4.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค

 ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กล่าวว่า  วว. นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG  เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อร่วมยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การใช้ประโยชน์จากสารชีวภัณฑ์เป็นโครงการสำคัญ ที่ วว. มุ่งเน้นและนำมาใช้ขับเคลื่อนโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ในการดำเนินงานนอกจากจะขยายการผลิตสารชีวภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และเพื่อใช้ในชุมชนแล้ว วว. ยังก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร เพื่อขยายผลและส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ตามแนวทางเกษตรปลอดภัย อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค  สิ่งแวดล้อม  และลดการนำเข้าสารเคมี     

ส่วนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. นั้น  ได้ดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน  6  กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและ วว. ได้นำสารชีวภัณฑ์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชไปให้เกษตรกรใช้ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อตอบสนองแนวทางเกษตรปลอดภัย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยรวม 

“มูลนิธิโครงการหลวง และ วว. มีสายสัมพันธ์อันยาวนานเป็นเวลากว่า 50 ปี โดย วว. ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยสนับสนุนงานโครงการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อตอบสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่สูง และลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน วว. ขอตั้งปณิธาน ที่จะทำงานเพื่อตอบสนองพระราชดำริและพระราโชบายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างที่สุด เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรืองสถาพร” ผู้ว่าการ วว. กล่าว            

“งานวิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อน เศรษฐกิจพอเพียง” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับนำพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางมาลัยวิทยสถานจากพื้นที่ต่างๆ มาร่วมจัดแสดงในรูปแบบ สวนไม้ดอกไม้ประดับมาลัยวิทยสถาน อว. ณ TISTR  Park  วว. เทคโนธานี คลองห้า  จังหวัดปทุมธานี   โดย วว. และ วช. มุ่งหวังให้สวนฯ นี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไม้ดอกไม้ประดับอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการและชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน      

          ในส่วนการประชุมหารือความร่วมมือการสนับสนุนทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ วว. ช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 มุ่งเน้นกรอบความร่วมมือ 5 ด้าน คือ ด้านการวิจัย (1.ด้านเห็ดเมืองหนาวและเห็ดเศรษฐกิจ  2.เห็ดป่าไมคอร์ไรซา และ 3.วานิลลา) การบริการวิชาการและเทคโนโลยี  การพัฒนาบุคลากร  การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่  และการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือ  โดยการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและ วว. ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองหน่วยงานให้ต่อเนื่องและขยายขอบเขตการดำเนินงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published.