วว. จับมือพันธมิตรจีน พัฒนาแพลตฟอร์ม NQI มุ่งส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ร่วมกับ China Railway Construction Cooperation International Limited (CRCCI) และ Southwest Jiaotong University (SWJTU) หารือกำหนดกรอบการจัดทำความร่วมมือ 3 ฝ่าย ในการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน  ภายใต้สัญญา 3-3 และ 3-5  พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์ม NQI ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับนานาชาติ  สนับสนุนการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ 3 ฝ่าย ประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้  ดร.อาณัติ  หาทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  วว. พร้อมด้วย นายภณสินธุ์  ไพทีกุล  ผู้อำนวยการ ห้องปฏิบัติการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งทางรางและยานยนต์ขนส่ง ศทร. วว. และคณะนักวิชาการ  ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference กับคณะผู้แทน China Railway Construction  Cooperation  International  Limited (CRCCI) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างและวิศวกรรมชั้นนำของโลกจากสาธารณรัฐประชาชนจีน  นำโดย Mr. Zheng   Tianli   รองหัวหน้าแผนกวิศวกรรมและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมคณะ รวมทั้งคณะผู้แทนจาก Southwest  Jiaotong  University  (SWJTU)  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย Mr. Wang   Jian  รองประธานและหัวหน้าแผนกวิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งประจำ SWJTU และคณะ ร่วมหารือกรอบข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย สำหรับการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ภายใต้สัญญางานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง และที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ในด้านงานทาง (Track work) ระบบจ่ายไฟฟ้า (Electrification) และงานซ่อมบำรุง (Maintenance) ของรถไฟความเร็วสูง

ดร.อาณัติ   หาทรัพย์   กล่าวว่า  รายละเอียดของสัญญาความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้  จะมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการทดสอบและรับรอง (Testing  and  Certification) การจัดทำร่างมาตรฐาน (Standardization) งานวิจัยและพัฒนา (Research  and Development) และงานด้านการอบรม (Training) นอกจากนี้ CRCCI และ SWJTU ยังได้เสนอความร่วมมือในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National  Quality  Infrastructure หรือ NQI) ด้านระบบราง โดยมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐาน  การทดสอบรับรอง  การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ผ่านการเชื่อมต่อและขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูง โดยจะทำการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์ม NQI ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ในระดับนานาชาติ  เบื้องต้นทั้ง  3  ฝ่ายจะเสนอให้ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในประเทศไทย ลาว และจีน  มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง เวียงจันทร์และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีระบบการใช้งานและบริหารจัดการที่สอดคล้องกัน

“ทั้งนี้  3 หน่วยงาน จะมีการประชุมทางไกลร่วมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณารายละเอียดเชิงลึกในด้านต่างๆ ความร่วมมือด้านระบบรางและรถไฟความเร็วสูงร่วมกับหน่วยงานจากประเทศจีนที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมนั้น ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  วว. จะมุ่งเน้นสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบราง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยของประชาชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.อาณัติ  หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. กล่าวสรุป

อนึ่ง China  Railway Construction  Cooperation  International  Limited หรือ CRCCI เป็นรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของประเทศจีน ประกอบกิจการก่อสร้าง ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ทดสอบและรับรองงานด้านระบบราง ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน เป็นบริษัทผู้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงรายแรกของประเทศจีน  ครองสัดส่วนของการก่อสร้างและผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ในงานด้านระบบรางกว่า 50% ของตลาดภายในประเทศจีน รวมทั้งยังเป็นบริษัทที่ดำเนินงานก่อสร้าง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเส้นทางรถไฟหลายสายในประเทศไทย  เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา  เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและเส้นทางรถไฟทางคู่อีกหลายสายภายในประเทศไทย ในส่วนของ Southwest  Jiaotong  University  หรือ  SWJTU เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศจีนในด้านวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านระบบราง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  วว. ได้ที่  โทร.0 2577 9000, 02577 9143 ต่อ 201 และ 304  E-mail : patcharee_a@tistr.or.th  https://www.tistr.or.th/rttc/  Facebook Page : https://www.facebook.com/RTTC.TISTR

Leave a Reply

Your email address will not be published.