GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ถอดบทเรียน ESB ถึง EEC เปิดผลติดตามการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วย AIP Platform ชู 4 ข้อเสนอ พัฒนาพื้นที่ ศก.พิเศษ อย่างยั่งยืน

11 มกราคม 2565 GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก” ผ่าน Cisco Webex และ Facebook Live เพื่อนำเสนอรายงาน “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” ต่อสาธารณชน พร้อมจัดเวทีเสวนา “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก” ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบถึงผลลัพธ์จากการถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ESB และนำมาสู่ผลการติดตามโครงการ EEC โดยคณะผู้วิจัยจากทั้งสามสถาบัน ผ่านการใช้เครื่องมือ Actionable Intelligence Policy หรือ AIP เทคโนโลยีที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการติดตามความเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมเสนอให้เป็นแนวทางในการใช้ติดตามการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ อย่างยั่งยืนในอนาคต

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และประธานของงานสัมนาวิชาการในครั้งนี้ กล่าวว่า งานสัมมนาวิชาการนี้ เป็นการจัดงานด้วยความร่วมมือระหว่าง GISTDA, TDRI และ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา การติดตามสถานะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และบริบทของพื้นที่ในภาคตะวันออก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) พร้อมขับเคลื่อนแนวคิดและหลักการใช้ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในพื้นที่ สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย อีกทั้งต้องการส่งเสริมการนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่ของผู้กําหนดนโยบายในพื้นที่ EEC และภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

โดย GISTDA มีบทบาทสำคัญในการนําเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Geo-Spatial data) และพัฒนา Platform เรียกว่า Actionable Intelligence Policy หรือ AIP สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็น Platformแสดงผลบน Dashboard ที่ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับศักยภาพ ความสามารถที่รองรับได้

ด้านบรรณาธิการของรายงาน ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า รายงายฉบับนี้ถอดบทเรียนการดำเนินงานและผลกระทบของการพัฒนา ESB มาปรับปรุงเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยข้อผิดพลาดในอดีต ทั้งเรื่องการใช้พื้นที่เกินขีดความสามารถ การขาดการจัดทำผังเมืองที่ดี การลักลอบทิ้งของเสีย ปัญหาอาชญากรรม และการขาดการมีส่วนรวมของประชาชน เพื่อให้โครงการ EEC อยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ลดภาระทางการคลังภาคเอกชน และคัดเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง พร้อมกับการติดตามประเด็นทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งผลการศึกษาได้นำมาสู่ 4 แนวทางในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยั่งยืนทั้งสำหรับ EEC และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่

  1. การจัดทำและบังคับใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังที่ EEC ได้ดำเนินการแล้ว เพื่อให้สามารถกำหนดพื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆ ได้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และการอยู่ร่วมกันในสังคม
  2. การกำหนดจำนวนผู้ประกอบการหรือจำนวนโรงงานแต่ละประเภท โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ มีการจำกัดจำนวนใบอนุญาต จัดระบบซื้อขายใบอนุญาต ดังที่ สกพอ. ใช้ควบคู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  3. การพัฒนาระบบขนส่งขยะ ของเสีย การคัดแยก และกำจัดขยะ ของเสียในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมตามมาด้วยของเสียหรือขยะอันตราย ขยะติดเชื้อ และขยะมูลฝอยจากชุมชน จึงต้องมีการกำหนดพื้นที่และมีนวัตกรรมสำหรับการกำจัดขยะทุกประเภทอย่างเหมาะสม
  4. ผลักดันให้นำธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Environmental Governance) มาปฏิบัติเป็นแนวทางปกติในการประกอบกิจการหรืออุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มีการให้ความรู้และเปิดเผยข้อมูลต่อชุมชนให้ทราบ รวมทั้งพัฒนาให้มีระบบการติดตามการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษต่อเนื่อง ดังเช่นที่รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอเทคโนโลยี AIP ของ GISTDA ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้มีระบบเฝ้าระวังทุกมิติด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน ระบบจัดเก็บและใช้ข้อมูล

ด้าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้อธิบายถึงผลการติดตามความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ EEC ว่า ผู้วิจัยได้ออกแบบ Dashboard ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 3 ด้าน 8 องค์ประกอบ ได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1.การจัดการน้ำ พบว่า การจัดการน้ำใน EEC มีประสิทธิภาพ มีค่าดัชนีชี้วัดการจัดการน้ำอยู่ที่ 3.35 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 2.มลพิษทางอากาศ พบว่า มีคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับระดับประเทศ ซึ่ง EEC ควรให้ความสำคัญกับการั่วไหลของสารระเหย VOC 3.การจัดการขยะ พบว่า มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ คือ 4.ความยากจน พบว่า การมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ส่งผลให้จำนวนคนจนลดลงกว่าพื้นที่อื่นๆ และส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย โดย พบว่า พื้นที่ EEC มีจำนวนคนจนเฉลี่ย 6.36 คน ต่อประชากร 1 พันคน และมีค่าครองชีพขั้นต่ำ 3,100 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแสดงถึงค่าครองชีพที่สูงกว่าในระดับประเทศ อยู่ที่ 2,762 บาท 5.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การมีเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ส่งผลให้รายได้ประชาชาติต่อคนในระดับจังหวัดสูงขึ้น โดยพบว่า ในพื้นที่ EEC มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 25,293.43 บาทต่อเดือน และมี GPP 672,996 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็น 2.8 เท่าของค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
ด้านสังคม ประกอบด้วย 6.สุขภาพ พบว่า ประชาชนในพื้นที่ EEC เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และมีอัตราตายด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่ 106.14 คนต่อประชากร 1แสนคน ซึ่งต่ำกว่าระดับประเทศ 7.คุณภาพชีวิต พบว่า มีพื้นที่สีเขียวน้อย หรือ 41.40 ตร.ม/คน หรือเพียงครึ่งนึงของระดับประเทศ ส่วนด้านการศึกษา พบว่ามีอัตราการเข้าถึงการศึกษาในระดับ ม.ปลายและอาชีวการศึกษา ร้อยละ 86.39 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับประเทศที่ 76.42 อย่างไรก็ตามใน EEC มีอัตราการเกิดอาชญากรรม สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศถึง 1.4 เท่า หรือ 121.36 คดีต่อ 1 แสนประชากร 8.ความเท่าเทียมกันของรายได้ พบว่า การกระจายรายได้ หรือค่า GINI อยู่ที่ 34.43 ดีกว่าในระดับประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 43.01
การวัดผลตัวชี้วัดเหล่านี้ ยังมีข้อมูลภูมิสารสนเทศของ GISTDA และ ใช้ ระบบ AIP Platform (Actionable Intelligence Policy) ในการช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล มาใช้งานติดตามการพัฒนาภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มาร่วมประกอบด้วย โดยมีการจัดทำ Dashboard ให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหา ทำให้มีทางเลือกในการตัดสินใจทางนโยบายได้ทันเวลา ป้องกันผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงตามดัชนีชี้วัดแล้ว ผลการศึกษาในพื้นที่ EEC ของรายงานฉบับนี้ ยังเผยให้เห็นการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอุตสาหกรรม ทั้งตัวอย่างการจัดการที่ดี และ ปัญหา อุปสรรคในการจัดการขยะ

สำหรับ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว TDRI กล่าวว่าในพื้นที่ EEC ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะติดเชื้อ และขยะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการกำจัดขยะทั้ง 3 ประเภทมีข้อจำกัด แม้จะมีโรงงานไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีคัดแยกขยะโดยแปลงเป็นเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) และมาตรการอื่น ๆ ในการจัดขยะแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับขยะที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีขยะมูลฝอยชุมชนและขยะติดเชื้อตกค้างในพื้นที่ นอกจากนี้ การรณรงค์และสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทางยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความรู้ในการคัดแยกและราคารับซื้อขยะรีไซเคิลที่ไม่จูงใจ อีกทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่ประสบข้อจำกัดด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และบุคลากรในการจัดการขยะมูลฝอย ส่งผลให้การกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การฝังกลบขยะยังประสบอุปสรรคและข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ดินสำหรับใช้เป็นสถานที่กำจัด เนื่องจากการฝังกลบต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
สำหรับขยะอุตสาหกรรม มีปัญหาเรื่องการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่สมดุลกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งขีดความสามารถในการรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยรวมยังไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากการจัดการขยะอุตสาหกรรมอันตรายมีต้นทุนการจัดการที่ค่อนข้างสูงและได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า จึงมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่นำขยะอุตสาหกรรมอันตรายไปจัดการด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เช่น การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ ดังเช่น เหตุลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมริมทางรถไฟ อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นต้น
จากข้อค้นพบดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการติดตามการดำเนินงาน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะเพียงด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการจัดการขยะที่สำคัญมีดังนี้
สำหรับข้อเสนอแนะในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ที่ต้นทาง ควรเร่งสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดการทิ้งขยะและคัดแยกขยะอย่างถูกต้องที่ต้นทาง สร้างแรงจูงในให้คัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกต้อง พัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และควรส่งเสริมให้มีการลดการเกิดขยะสำหรับพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ในการกำจัดขยะ เช่น เกาะ เป็นต้น ที่กลางทาง ควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการทิ้ง/ขายขยะรีไซเคิลและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ควรอำนวยความสะดวกโดยจัดให้มีจุดรับทิ้งขยะรีไซเคิล (Drop-off points) ให้ครอบคลุมพื้นที่และอยู่ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก และควรส่งเสริมการนำขยะมูลฝอยชุมชนที่ผ่านการคัดแยกไปเป็นวัตถุดิบรอบสองเพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ปลายทาง ควรสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำ MOU ระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ประกอบการวางแผนด้านการจัดการขยะ ควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยในอัตราที่สอดคล้องกับต้นทุน และควรเลือกพื้นที่สำหรับก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยและสถานที่ในการกำจัดขยะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

Leave a Reply

Your email address will not be published.