สอวช. แนะทักษะจำเป็นของนักบริหารงานวิจัย ต้องรู้ลึกรู้จริง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำงาน พร้อมเน้นย้ำการริเริ่มทำสิ่งใหญ่ขับเคลื่อนประเทศ มองการณ์ไกลและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเปิดมุมมอง ในหัวข้อ “ความจำเป็นและความคาดหวังต่อผู้บริหารจัดการงานวิจัย” ภายใต้การประชุมระดมความเห็น (ร่าง) ระบบพัฒนาผู้บริหารงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมด้านชุมชนและพื้นที่ จัดโดย สถาบันคลังสมองของชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (Research and Development and Innovation Manager; RDI Manager) ซึ่งการประชุมระดมความเห็นในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ห้องประชุม Executive 1 โรงแรมปทุมวัน พริ๊นเซส และผ่านระบบออนไลน์

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงหลักการทั่วไปของการบริหารงานวิจัย ที่เริ่มจากการสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันระบบการจัดการงานวิจัยของไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีการทำงานเชื่อมโยงกัน โดยมี สอวช. ริเริ่มในเชิงนโยบาย มี สกสว. ในการนำนโยบายไปใช้ รวมถึงมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ซึ่งการทำงานของผู้บริหารงานวิจัยของ  สอวช. กับ สกสว. จะอยู่ในส่วนการกำหนดวาระ (Agenda Setting) การจัดลำดับความสำคัญ (Priority Setting) ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณ (Budget Allocation) ที่ต้องมองไปถึงการทำให้ประชาคมที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเรื่องที่จะทำเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดผล ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการสร้างความตระหนักในประเด็นนั้นๆ เพื่อให้มีงบประมาณเข้าไปสนับสนุนและสร้างผลประโยชน์ในอนาคตให้กับประเทศได้

สำหรับทักษะต่างๆ ที่นักบริหารจัดการงานวิจัยพึงมี ดร. กิติพงค์ แบ่งออกเป็น 5 อย่าง ได้แก่ 1) Engagement หรือการมีส่วนร่วม ต้องมีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องที่ทำ เพื่อให้สามารถลงไปบริหารจัดการ ให้ตอบโจทย์บริหารงานวิจัยไปถึงปลายทางได้จริงๆ โดยเครื่องมือที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมากคือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking 2) ความสามารถในการทำ Assessment หรือการประเมิน มีเครื่องมือในการประเมิน ดูเรื่องของความเป็นไปได้ในการทำงานที่ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) นักบริหารงานวิจัยจึงต้องมีความรู้ลึกในระบบของการทำวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งการประเมินงานในด้านพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญเรื่องของผลประโยชน์ทางสังคม (Social Benefit) และต้นทุนทางสังคม (Social Cost) ร่วมด้วย 3) การทำ Conceptualization มีกรอบแนวความคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่กำลังพยายามทำอะไร และจะมุ่งไปสู่จุดหมายนั้นได้อย่างไร นักบริหารงานวิจัยที่ดีต้องมองทะลุ มองในระยะยาว โดยอาศัยประสบการณ์ ความรู้ การมีผู้ให้คำแนะนำ หรือ Mentor ที่ดี เน้นการสร้างคนด้วยแนวคิด Learning by doing อีกส่วนที่คู่กับ Conceptualization คือการทำ Legitimization ทำให้ในระดับหัวหน้างานหรือระดับองค์กรเห็นด้วยกับแนวทางที่จะทำ เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เป็นทางการและนำแนวทางไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น 4) การทำ Granting ในเรื่องของการบริหารจัดการโครงการและการให้ทุน ควรคำนึงถึงเรื่อง Commissioning Approach ในงานบางอย่างที่มีความเฉพาะเจาะจง เป็นเรื่องที่คาดหวังว่าจะเกิดผลตอบแทนที่สูงตามมา ดังนั้นต้องเจาะจงได้ว่าจะให้ใครเข้ามาทำงาน ต้องมีข้อมูลการตัดสินใจที่แม่นยำ เป็นกลาง และมีหลักฐาน ในการทำระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคม ซึ่งนอกจากจะคัดเลือกนักวิจัยเข้ามาทำงานแล้ว ยังต้องดูแลเตรียมพร้อมให้เขาสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นด้วย และ 5) Evaluation หรือการประเมินผล ที่มีศาสตร์ในการทำมากมาย ที่นักบริหารงานวิจัยสามารถเรียนรู้ได้ และต้องมีความสามารถในการทำเรื่องนี้เช่นกัน

ดร. กิติพงค์ ยังได้ให้แนวคิดเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้บริหารจัดการงานวิจัยในระดับพื้นที่ควรเริ่มนำมาคิด ในประเด็นแรกคือการทำงานวิจัยที่ควรเน้นการริเริ่มทำในเรื่องใหญ่ๆ  เช่น แนวทางการทำ Growth Pole ขั้วความเจริญในพื้นที่ ทำอย่างไรที่จะชูขึ้นมาให้เป็นเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศ ถึงแม้อาจจะใช้เวลาในการทำงาน แต่ผลสำเร็จที่ได้คุ้มค่าที่จะทำ ในส่วนนี้อาจต้องอาศัยการทำงานร่วมกันมากขึ้น ตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้บริหารในแต่ละสังกัดต้องหาโอกาสมาคิดเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ด้วยกัน และให้มีการบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงกัน ประเด็นต่อมาคือในระดับพื้นที่ ที่มีทุนสังคม ทุนวัฒนธรรม ทุนพื้นที่ สามารถนำมาทำงานต่อยอดได้หลายอย่าง เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) หรือที่ยังทำอยู่ในส่วนน้อยคือเรื่อง Soft Power ด้วยการนำเอาของที่เป็นทุนพื้นที่ขึ้นมาเป็นแบรนด์ สร้างให้เป็นที่รู้จัก อีกส่วนที่สำคัญมากคือการมองภาพในระดับภูมิภาคมากกว่ามองแค่ในประเทศไทย มองถึงการเชื่อมโยงหลายประเทศ เช่น การทำระเบียงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา พม่า ล้านนา ไปจนถึงทางตอนใต้ของจีน ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย นอกจากจะได้ในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้าง Soft Power แล้ว ยังสามารถดึงกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talent) เข้ามาทำงานได้ด้วย ในอีกประเด็นหนึ่งที่ ดร. กิติพงค์ ฉายภาพให้เห็นคือการมองไปถึงอนาคตว่าอะไรที่เป็นวาระสำคัญ (Key Agenda) ที่จะต้องเริ่มขยับในการทำกลไกบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Net Zero) เป็นต้น ประเทศไทยต้องเริ่มคิดในเรื่องนี้ในระดับพื้นที่ และทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้จริงด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published.