วช. – สวทช. หนุน ‘ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง’ สร้างการแข่งขันประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
(2 กุมภาพันธ์ 2565) ณ EH 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (บางนา) : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัดแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วมงานและเป็นสักขีพยาน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญในการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลและสถาบันความรู้ ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เป็นหนึ่งใน 7 ภารกิจของ วช. ที่มีความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการสร้างความรู้จากการวิจัยในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวงวิชาการของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของไทยที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
“วช. และ สวทช. ได้ตกลงร่วมกันที่จะร่วมดำเนินงาน ภายใต้ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ และเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงพัฒนากำลังคนในระบบวิจัยและนวัตกรรมซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญให้เป็นมืออาชีพและมีศักยภาพในการพัฒนาและสร้างงานในสาขาที่สำคัญและขาดแคลน หรือในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โดย วช. สนับสนุนงบประมาณวิจัย ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อกลุ่มวิจัย ในระยะเวลาดำเนินการวิจัย 3 ปีร่วมกับ สวทช. ติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศ เน้นกลไกการทำงานเชิงรุกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการพัฒนาประเทศด้วยการวิจัยและนวัตกรรม บนฐานความรู้เชิงปัญญา ลดการพึ่งพาทรัพยากรบุคคลผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและหันมาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว”
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือนี้ สวทช. จะบริหารจัดการ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ด้วยการใช้ระบบการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรระดับสูงและสร้างความเป็นเลิศ รวมทั้งกลไกการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็น อาทิ ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โรงงานต้นแบบ ด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การบ่มเพาะธุรกิจ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การจัดการสิทธิเทคโนโลยี มาร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง”
สำหรับความร่วมมือภายใต้ “โครงการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” ถือเป็นขั้นบันไดสูงสุดของเส้นทางอาชีพนักวิจัย โดยมีคุณลักษณะเฉพาะตัวประกอบด้วย 1. มุ่งเน้นความเป็นเลิศ 2. ตั้งเป้าหมายท้าทาย 3. เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 4. ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และ 5. สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นทั้งรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยผู้นำกลุ่ม และการสนับสนุนงบประมาณวิจัยไปพร้อมกัน เพื่อผลิตผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและแสดงศักยภาพในระดับนานาชาติโดยประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือนี้จะทำให้สามารถดึงทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน มาประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เป้าหมายและวิธีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ด้วยประสบการณ์บริหารจัดการโครงการวิจัยขนาดใหญ่ในโครงการนักวิจัยแกนนำมากกว่า 10 ปี สวทช. ได้สนับสนุนและผลักดันนักวิจัยที่มีความสามารถสูงให้สามารถทำงานวิจัย และผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงให้นักวิจัยไทยได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิดและเข้าถึงความต้องการของภาคส่วนผู้ใช้ประโยชน์ ดังนั้น การทำงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานภายใต้โครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างกลไกสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ อว. ในการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อให้สามารถส่งมอบผลผลิตและผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1. สร้างบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม 2. สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ 3. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย และ 4. สร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ