เปิดฉากฤดูกาลล่า “ทางช้างเผือก” ยามเช้า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สามารถเริ่มสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูกับกลุ่มดาวแมงป่อง สังเกตด้วยตาเปล่าได้ ทุกภูมิภาคของไทยในบริเวณมืดสนิทไร้แสงเมืองรบกวน
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นถ่ายภาพ “ใจกลางทางช้างเผือก” เนื่องจากตำแหน่งใจกลางทางช้างเผือกจะอยู่ขนานกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเช้ามืด เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04:00 น. เป็นต้นไป ปรากฏอยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูกับกลุ่มดาวแมงป่อง มองเห็นได้เด่นชัดด้วยตาเปล่าในพื้นที่มืดสนิทไร้แสงรบกวน มีเวลาเก็บภาพทางช้างเผือกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูกาล ออกล่าทางช้างเผือกยามเช้า สำหรับปีนี้ ยังมีดาวเคราะห์สว่างโดดเด่นให้ชมอีก 2 ดวงในช่วงเช้ามืด ได้แก่ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร สังเกตได้บริเวณด้านซ้ายล่างของใจกลางทางช้างเผือก
หลังจากนั้นเราจะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ แนวใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้ามากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายเมษายน แนวใจกลางทางช้างเผือกจะเปลี่ยนทิศทางเป็นแนวพาดบริเวณกลางฟ้า ช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป สามารถชื่นชมความสวยงามและบันทึกภาพทางช้างเผือกได้ยาวนานขึ้น
“ทางช้างเผือก” เป็นวัตถุท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อมองจากโลก มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแถบสว่างพาดเป็นแนวยาวกลางฟ้า ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือกคือ “ใจกลางทางช้างเผือก” (Galactic Center) ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย อาทิ ดาวฤกษ์ กระจุกดาว เนบิวลา เป็นต้น แนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแมงป่อง ปรากฏบนท้องฟ้าในตำแหน่งที่เฉียงไปทางใต้ และเนื่องจากใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทางตอนใต้ของไทยจึงมองเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกอยู่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าภูมิภาคอื่น ส่งผลให้ชาวใต้มีโอกาสสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจนมาก
ในแต่ละปี ช่วงเวลาที่สังเกตทางช้างเผือกได้ดีที่สุด คือช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นตุลาคม จะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในตำแหน่งกลางท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืน หากแต่ในประเทศไทยตรงกับช่วงฤดูฝนพอดี จึงมักมีอุปสรรคเรื่องเมฆและฝนตก แต่หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนก็จะเป็นโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกในรอบปี หลังจากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อุปสรรคเรื่องเมฆฝนจะเริ่มน้อยลง จะสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
สำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือก ควรหาสถานที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้เล็กน้อย เป็นพื้นที่มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน ตั้งกล้องโดยหันหน้ากล้องไปที่ใจกลางทางช้างเผือก เลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ได้องศาการรับภาพที่กว้าง ปรับระยะโฟกัสของเลนส์ที่ระยะอนันต์ ใช้รูรับแสงที่กว้างที่สุด และตั้งค่าความไวแสงสูงตั้งแต่ 1600 ขึ้นไป นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย