ญี่ปุ่นมั่นใจไทย เพิ่มลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศ ด้านดาวเทียมระบุตำแหน่ง

10-11 มีนาคม 2565 ในงาน MGA – Multi GNSS Asia 2022 จัดขึ้นที่ The Royal Paradise Hotel & Spa Patong Phuket จ.ภูเก็ต โดยมี สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิ (Tsunami Alert System) โดยข้อมูลจะถูกส่งตรงจากอุปกรณ์ของบริษัท SONY ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งถือเป็นการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบดาวเทียมโดยตรง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง รวมถึงการเสวนา การประชุมวิชาการ การประกวด การนำเสนอต้นแบบของดาวเทียมระบุตำแหน่ง (rapid prototype development :rpd) เพื่อเฟ้นหา startup ที่จะสร้างธุรกิจอวกาศจากการใช้เทคโนโลยีอวกาศ

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการด้านกิจการอวกาศของ GISTDA กล่าวว่า การดำเนินการทดสอบร่วมกับ SONY ในครั้งนี้ ระบบจะถูกทดลองบนพื้นที่ทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ที่เป็นจุดเกิดเหตุของสึนามิ เมื่อปี 2547 ซึ่งทำให้ SONY มั่นใจว่าระบบนี้จะเป็น ระบบที่ปฏิวัติวงการอวกาศในอนาคต และ SONY เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่กำลังรุกคืบในอุตสาหกรรมอวกาศที่มุ่งพัฒนาไม่ใช่เพียงการสร้างดาวเทียมหรือจรวดอย่างที่เราคุ้นชินเท่านั้น แต่ยังดึงจุดแข็งของตัวเองด้านการทำชิปอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยของ SONY และความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การลงทุนธุรกิจอวกาศในประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ชื่อว่า SoftBank ที่พัฒนาเทคโนโลยีจากดาวเทียมระบุตำแหน่ง ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่พร้อมลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มมีการหารือกับ partner ในไทยเพื่อเตรียมรุกตลาดอย่างเต็มตัว ทั้งบริษัทไทยผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคม รวมถึงผู้ให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายในไทย รวมไปถึง อีก 2 บริษัทของญี่ปุ่นที่พร้อมลงทุนกับ partner ในไทย ได้แก่ NTT Data และ MSJ Magellan Systems Japan ในอุตสาหกรรมอวกาศดาวเทียมระบุตำแหน่งอีกด้วย

ด้าน นายมานาบุ คิมูระ รองผู้จัดการทั่วไปของ Sony Group Operation กล่าวว่า ระบบนี้จะเป็นระบบที่ต่อยอดการวิจัยขั้นสูงของประเทศไทยได้ โดยหมายมั่นว่าระบบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นที่ EECd ที่เน้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอวกาศของประเทศไทย และพร้อมลงทุนเพิ่มเติมการวิจัยในเทคโนโลยีต่อไป ปัจจุบัน อุปกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าว ได้พัฒนาเป็นต้นแบบ หรือ Prototype และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้ทดลองวิจัยและใช้งานแล้วกว่า 50 ชุด เพื่อขยายผลการใช้งานต่อในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การติดตามเรือในธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายมาโกโตะ โนดะ รองประธานบริษัท SoftBank กล่าวว่า ยังมีอุปกรณ์รุ่นใหม่ชื่อว่า อิชิมิล (ichimill) ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การเกษตรแม่นยำ การก่อสร้าง รวมถึงการนำไปติดตั้งกับพื้นที่ที่ต้องการวัดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการความละเอียดสูง เช่น การเคลื่อนตัวของเขื่อนหรือสะพาน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำเชิงพื้นที่สูงมากๆ ในระดับ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ในขณะนี้ยังไม่สามารถตอบสนองได้ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราใช้ google map นำทางแต่มือถือไม่แม่นยำพอเพราะไม่รู้ว่าเราอยู่เลนไหน หรือไม่สามารถบอกได้ว่าเรากำลังอยู่บนทางด่วนหรือใต้ทางด่วน หากมีอุปกรณ์ของตัวนี้เข้ามาเสริมก็จะทำให้เราไม่ต้องกังวลกับปัญหาดังกล่าวเลย

Leave a Reply

Your email address will not be published.