รัฐบาลจีนประกาศมอบรางวัลแห่งมิตรภาพ “The 2021 Chinese Government Friendship Award” ให้กับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Science and Technology Daily ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้เผยแพร่ว่า รัฐบาลจีนได้ประกาศมอบรางวัลแห่งมิตรภาพ “The 2021 Chinese Government Friendship Award” ให้กับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะที่เป็นผู้บริหารองค์กรที่ตระหนักถึงคุณูปการสำคัญต่อความร่วมมือของ สาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรของทั้งสองประเทศ
LONG Yun ผู้เขียนรายงานข่าวชิ้นนี้ได้เปิดหัวเรื่องไว้น่าสนใจว่า Sustainability Shaping Great Collaboration โดยได้รายงานข่าวถึง ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีระดับโลก ในด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมของประเทศมีความทันสมัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
“ประเทศไทยได้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น ความร่วมมือจีน-อาเซียน” ดร.ณรงค์ ได้กล่าวกับ Science and Technology Daily เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งคณะทำงาน “ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน” โดยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน – อาเซียน (China-ASEAN Technology Transfer Center หรือ CATTC) ดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเร่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการค้าของทั้งสองประเทศ ในปี พ.ศ. 2558 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน ได้จัดตั้งขึ้นที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเจรจาธุรกิจระหว่างไทยและจีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและจีนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างไทยและจีน การจัดฝึกอบรมระยะสั้น และการจัดกิจกรรมเสาะหาเทคโนโลยีและจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยและจีน ตามความต้องการของนักวิจัยและผู้ประกอบการทั้งไทยและจีน
ตัวอย่างผลสำเร็จของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยในการสร้างความร่วมมือกับจีนในงาน China Intelligent Equipment Industry ระหว่างปี 2560-2562 การส่งบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมระหว่างประเทศสำหรับนักจัดการด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคจีน-อาเซียน และการส่งนักวิจัยไทยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ในประเทศจีน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ได้กล่าวในช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน ซึ่งคาดว่าแนวคิดนี้มีความสอดคล้องกับแผนระดับชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย อีกด้วย