วช.ปลื้มนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2565 จากแนวคิด “งานวิจัยทางกฎหมายสู่สังคมยุคใหม่ที่ดีขึ้น”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2565” ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในงาน NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
วันนี้ (วันที่ 22 มีนาคม 2565 ) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.
มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยโดยมุ่งเน้นการวิจัยใน 2 ประเด็น หลัก คือ การปรับเปลี่ยนกฎหมายและแนวคิดทางกฎหมายให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในยุคของสิทธิและเสรีภาพ และงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินของไทยให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกส่งต่อนำไปสู่ส่วนหนึ่งในการตราเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคมนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนระบบในอนาคตต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่า ผลงานวิจัยทางด้านนิติศาสตร์ ในกลุ่มวิชาการ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผลงานวิจัยในเชิงนิติศาสตร์โดยแท้ เช่น การศึกษาวิจัยเรื่องการใช้สิทธิทางศาลของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 2. ผลงานวิจัยเพื่อเป็นการยกร่างกฎหมาย 3. ผลงานวิจัยที่นำเสนอประเด็นเชิงนโยบาย เช่น การประเมินองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมในข้าราชการพลเรือนสามัญ การโอนภารกิจบางประการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ การปรับเปลี่ยนกฎหมายและแนวคิดทางกฎหมายให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยของสิทธิและเสรีภาพ และงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการในการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินของไทยมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบให้สอดรับกับสภาพของยุคสมัยและสังคมขึ้นมาบังคับใช้ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเก่าให้มีความก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคมไทยซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับงานวิจัยทางกฎหมาย “การปรับเปลี่ยนกฎหมายและแนวคิดทางกฎหมายให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยของสิทธิและเสรีภาพ” งานวิจัยที่เกี่ยวกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทศวรรษหน้าเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง “สิทธิ” ในการที่จะเข้าถึงระบบการดูแลรักษาของภาครัฐในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม “เสรีภาพ” ในการที่จะได้รับความเชื่อมั่น มั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น
“การยกร่างกฎหมาย” เป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยมีประสิทธิภาพ
ในเรื่อง ของ “การประเมินองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมในข้าราชการพลเรือนสามัญ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบราชการพลเรือนสามัญ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะต่อ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม รวมไปถึงการออกกฎ ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk: ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชนและยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยทางด้านสาขานิติศาสตร์ ที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย เกิดการพัฒนาศักยภาพ ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การยกร่างกฎหมายและการตรากฎหมายที่ประชาชนจะได้รับสิทธิและเสรีภาพหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง คุ้มครอง บังคับใช้ในสังคมก่อให้เกิดความผาสุกโดยเท่าเทียมกัน ในการอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข ความเป็นธรรม ความเสมอภาคและความเจริญทางสังคมปรับเปลี่ยนระบบในอนาคต ด้วย “งานวิจัยทางกฎหมายสู่สังคมยุคใหม่ที่ดีขึ้น” เพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป