วว. ผนึกกำลังพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตอบโจทย์ แก้ปัญหาครบวงจร ด้วย วทน.
จากบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน กอปรกับการเผชิญจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้การดำเนินงานของทุกภาคส่วนในสังคมไทยและสังคมโลกต้องปรับตัว และมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือที่สามารถตอบโจทย์ แก้ปัญหา ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการในลักษณะจตุภาคี หรือ Quadruple Helix ระหว่างหน่วยงานการวิจัย การศึกษา จังหวัด และชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการขยายผลไปข้างหน้าและนำไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยได้ผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อตอบโจทย์ แก้ปัญหา และผลิตผลงานใหม่ร่วมกัน ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ผลจากการดำเนินงานของ วว. ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2565 วว. ได้ร่วมมือกับพันธมิตร ดังนี้
บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE มุ่งเน้นความร่วมมือเชิงบูรณาการนำผลงานวิจัย องค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม นับเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันพัฒนาสนองตอบนโยบาย BCG ของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสินค้าทางการเกษตร การยกระดับภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์สารชีวภัณฑ์และเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน ทั้งนี้ วว. สามารถพัฒนาสารชีวภัณฑ์สู่อุตสาหกรรม นับเป็นการตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง ทั้งสองหน่วยงานเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากจังหวัดอุบลราชธานีที่ UBE ดำเนินการอยู่ จะทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดี สามารถขายสินค้าได้ดียิ่งขึ้น มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและที่สำคัญได้ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมโดยรวม
การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ดำเนินงานร่วมกันใน “โครงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้านการอบรม วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสวนยางพารา ตลอดจนการแปรรูป สร้างมูลค่ายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ปลูกต้นยางพารามากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมการปลูกพืชเสริม เช่น สมุนไพรที่มีความต้องการของตลาดสูง เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำไปสกัดสารสำคัญและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีมูลค่าสูง สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งจะช่วยยกระดับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
9 เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ดำเนินงานบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันในการยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถด้านกำลังคน เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ เทคโนโลยี และร่วมพัฒนาให้เกิดโปรแกรมหลักสูตร Non-Degree ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจพื้นฐานด้านระบบราง ครอบคลุมทั้งงานโยธา งานทาง งานล้อเลื่อน งานบำรุงรักษา เป็นต้น พร้อมทั้งเพิ่มพูนทักษะด้านวิชาการ ทักษะปฏิบัติการ และงานวิจัย สามารถริเริ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านระบบรางได้อย่างเหมาะสม โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านมาตรวิทยา มาตรฐานการทดสอบ และการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ผ่านหลักสูตรจะสามารถปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้ทันที และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานความร่วมมือภายใต้ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝน” นำองค์ความรู้มาพัฒนาขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝน จากการปฏิบัติการฝนหลวงตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดย วว. พร้อมนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดำเนินการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมจัดทำระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการเคมีและให้คำปรึกษาในการจัดทำระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มุ่งหวังร่วมกันที่จะนำไปสู่การร่วมพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในผลการวิเคราะห์ทดสอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะส่งผลให้การควบคุมคุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM ประเทศมาเลเซีย ดำเนินงานร่วมกันโดยมุ่งหวัง 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การริเริ่มสร้างกลุ่มพันธมิตรกับประเทศมาเลเซียในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อการขนส่งทางระบบรางในอาเซียน หรือ ASEAN Connectivity 2. วว. ต้องการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการทดสอบ ตรวจสอบทางระบบราง ที่ได้มาตรฐานสากล และ 3. วว. ต้องการขยายฐานของผู้รับบริการโปรแกรมการฝึกอบรม Non degree ด้านระบบรางที่จะจัดให้แก่ ผู้สนใจ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน
โดยมีกิจกรรมร่วมกัน 4 ด้าน คือ 1) การพัฒนางานวิจัยด้านระบบราง โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันขอทุนวิจัยในระดับภูมิภาค 2) การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 สถาบัน ผ่านการจัดสัมมนา/ถ่ายถอดเทคโนโลยีในด้านวิศวกรรมระบบราง โดย วว. จะร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และการส่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี UiTM มาฝึกงานภาคฤดูร้อนที่ วว. 3) การจัดประชุมวิชาการ/โปรแกรมอบรมระยะสั้น Non-degree ด้านระบบรางร่วมกันทั้งแบบเก็บค่าลงทะเบียนและแบบไม่มีค่าลงทะเบียน โดยทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันเป็นวิทยากร และ 4) ประชาสัมพันธ์หน่วยงาน โดยการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีงานทดสอบด้านระบบราง ระบบรางสมัยใหม่ รวมทั้งด้านวิชาการระบบรางระดับชาติและนานาชาติในเวทีต่างๆ
บริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินงานนำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร บ่มเพาะธุรกิจ และนำไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์ พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG นำร่องพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ที่มีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร ไขมันพอกตับ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยการทำงานของระบบสมอง ที่พร้อมจำหน่ายทางการค้าเร็วๆนี้ โดยจะร่วมผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านการพัฒนาผลงานวิจัย/นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีขอบข่ายความร่วมมือการวิจัยพัฒนาด้านการใช้จุลินทรีย์พันธุ์ไทยร่วมกัน ตลอดจนการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
อบจ. นครพนม ดำเนินงานร่วมกันใน “โครงการนำผลงานวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปแก้ไขปัญหาผักตบชวาและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในจังหวัดนครพนม” ครอบคลุมพื้นที่ 855 ไร่ ซึ่งประสบปัญหาการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำท่วม/เน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการขนส่งคมนาคมทางน้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยมุ่งหวังให้เกิดเป็น “นครพนมโมเดล” และนำไปสู่การขยายผลให้ทุกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นศูนย์ปฏิบัติการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช
ภายใต้ความร่วมมือมุ่งเน้น 2 เป้าหมายหลัก คือ เป้าหมายเชิงปริมาณ ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนมที่มีผักตบชวาและวัชพืชถูกกำจัดด้วยวิถีทางธรรมชาติโดยใช้สารสกัดอินทรีย์ จุลินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้เครื่องจักรกล เพี่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช โดยนำสมุนไพร/พืชผัก ผลไม้จากพื้นที่ เช่น สับปะรด กระเทียม มะนาว มะกรูด มะม่วงหาวมะนาวโห่ หรือพืชที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) และมีเรซิดีวของกรดอะมิโน (Amino Acid) นำมาพัฒนาเป็นสารสกัดสมุนไพรสำหรับกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยใช้จุลินทรีย์เป็นตัวกระตุ้นการทำงาน จะช่วยออกฤทธิ์ในการสกัดการสังเคราะห์แสง จากใบจนถึง ราก-เมล็ด-ไหล ของผักตบชวา ภายใน 45 วัน และ เป้าหมายเชิงคุณภาพ ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีคุณภาพ
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีภารกิจสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของ “โครงการหลวง” ในการวิจัยพัฒนา เผยแพร่ และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วว. และ สวพส. จะร่วมดำเนินงานเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดงานวิจัย ให้สามารถนำไปพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ ทรัพยากร และบุคลากร ตลอดจนการผลิต/พัฒนาบุคลากร ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน มีขอบเขตความร่วมมือมุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และการส่งบุคลากรเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย ประสานงานและอาศัยทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย ร่วมพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการด้านการวิจัยร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลให้เกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป
ขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยร่วมกับ 4 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือนี้ วว. และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะร่วมดำเนินโครงการสำรวจความต้องการการใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ตามมาตรา 41 ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะในพื้นที่ภาคตะวันออก และ EEC ดำเนินงานวิจัยพัฒนาบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการบริการทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชนต่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ให้บรรลุตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561– 2580) อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ
บริษัทฝาจีบฯ จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมพัฒนาความรู้และงานวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อการใช้ประโยชน์งานวิจัยพัฒนาพัฒนาขีดความสามารถ สนองตอบนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG โดยจะร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด หรือพัฒนาวัสดุรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้น Low carbon ส่งเสริมการใช้ซ้ำและให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิต ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตมาเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อันจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green economy อย่างเป็นรูปธรรม
อบจ. กาญจนบุรี นำ วทน. บริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นด้านสถานที่ในการผลิตการแปรรูปให้ได้มาตรฐาน สามารถสร้างแบรนด์สินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยศักยภาพของ วว. ที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านเทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ การคัดเลือกสายพันธุ์พืช การปลูก การวิเคราะห์ทดสอบดิน เทคโนโลยีปุ๋ย เทคโนโลยีเกษตรปลอดภัย ตลอดจนเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการไปจนถึงระดับโรงงานนำทาง ผ่านการดำเนินงานและถ่ายทอดความรู้จากนักวิจัยและบุคลากรของ วว. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีไปผลักดันให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมการบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังกล่าวของ วว. จะเป็นพลังส่งเสริม สนับสนุนซึ่งกันและกัน ในการขับเคลื่อนนโยบาย ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์และเป็นรูปธรรม มีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ มีการนำผลงานที่ร่วมกันพัฒนาไปใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์ แก้ปัญหา ของประเทศได้อย่างแท้จริง นับเป็นรางวัลความภาคภูมิใจให้กับ วว. และพันธมิตร ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานที่มีประโยชน์กับประเทศและประชาชนต่อไป