วว. ขับเคลื่อน BCG  หนุนใช้ “สารชีวภัณฑ์” ช่วยยกระดับผลิตผลทางการเกษตร พร้อมให้บริการระดับอุตสาหกรรมโดย ICPIM 2 ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อรา/แบคทีเรีย

“ชีวภัณฑ์” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะมาจาก พืช สมุนไพร จุลินทรีย์  มีหลายรูปแบบ ที่คุ้นเคยและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ EM (Effective  microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์มีหน้าที่ในด้านการย่อยสลายเศษซากพืช ช่วยเร่งปฏิกิริยาในการผลิตปุ๋ย  เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตฮอร์โมน หรือเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักร่วมกับสมุนไพรเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยนำ หรือใช้ป้องกันกำจัดแมลง  มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่ผลิต EM และนำไปใช้ในเชิงสังคม อาทิ พด. 1-12 ของกรมพัฒนาที่ดิน ปม.1 และ ปม. 2 ของกรมประมง และ PGPR 1 PGPR 2 และ PGPR 3 ของกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์เดี่ยวๆ โดยทั่วไปที่ผลิตขายเชิงพาณิชย์และผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร จะมี 5 สายพันธุ์หลัก คือ ไตรโคเดอร์มา บิววาเรีย เมธาไรเซียม บีที และบีเอส ซึ่งจุลินทรีย์ทั้ง 5 ชนิดนี้จะนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืช คือ โรคและแมลงของพืช

ปัจจุบันภาครัฐรณรงค์ให้เกษตรกรทำการเกษตรมุ่งเน้น ระบบการผลิตพืชแบบเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ โดยใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืชมากขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ   มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนา ที่มีเป้าหมายร่วมคือ “ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวง อว. ได้นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG  เป็นธงดำเนินงานองค์กร และมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร  หรือ  ICPIM 2   ที่มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย

รูปแบบของชีวภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตโดย โรงงาน  ICPIM 2   มีจำนวน  3  รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว  หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ  เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ มีกำลังการผลิตรวมต่อปีมากถึง 115,000 ลิตร

ICPIM 2”   มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย  โดย  วว. มีหลายส่วนงานที่ร่วมบูรณาการดำเนินงาน ครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร  ได้แก่  ศูนย์จุลินทรีย์   มีสายพันธ์จุลินทรีย์ในคลังมากกว่า  11,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่  มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมให้บริการจัดเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการ  มีศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม OECD  GLP  GUIDLINE  ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์ และในส่วนของ โรงงาน ICPIM 2   ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม

 นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานด้านชีวภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รับน้องๆในระดับอุดมศึกษามาเรียนรู้  ฝึกงาน  รวมถึงทำวิจัยในด้านต่างๆ ของการพัฒนางานด้านชีวภัณฑ์ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ  โรงงาน และภาคสนาม เพื่อเป็นแรงงานรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพต่อไปในอนาคต

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต    ผู้ว่าการ วว.   กล่าวถึงข้อดีของสารชีวภัณฑ์ที่ วว. ผลิตว่าผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC  17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE และผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน

ทั้งนี้ วว. ได้นำสารชีวภัณฑ์ที่วิจัย พัฒนาและผลิต ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด”  รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม  และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ  โดย วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ครอบคลุม   4  กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่  ไม้ผล พืชไร่ (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง)  พืชสมุนไพรและพืชผัก  รวมทั้งได้พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน

นอกจากนี้ วว. ยังได้เข้าร่วมดำเนิน โครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตก ด้วย BCG โมเดล” ในปีงบประมาณ 2564   จากการดำเนินงานดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม  ดังนี้ 

 1) มีเกษตรกรกว่า  200  ราย  นำเทคโนโลยีไปใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยการผลิตหมุนเวียนสำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นได้   5  ปัจจัยการผลิต   จำนวน   6   เทคโนโลยี   ดังนี้  เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก   เทคโนโลยีการผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม   เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด (ฟางข้าวเสริมซีลีเนียม กากมันสำปะหลัง)  เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ้ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต   เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืซด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต  (มันสำปะหลัง กล้วย)  และเทคโนโลยีขยายชีวภัณฑ์ในถังชุมชนโมเดล วว.

 2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัท รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต functional food และบรรจุภัณฑ์

 3)  มีผู้ประกอบการร่วมลงทุนด้าน  R&D  ภายใต้ BCG  Model

 4)  เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ functional   food และเวชสำอาง จำนวน  10  ผลิตภัณฑ์ และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน  2  ต้นแบบ  ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินงานจำนวน  370   ล้านบาท

“…ประโยชน์ของการใช้สารชีวภัณฑ์ เป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรรองรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ระบบการผลิตพืชปลอดภัย และระบบการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผลการเกษตร ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทย…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของสารชีวภัณฑ์ที่มีต่อภาคเกษตรกรรม

สอบถามเกี่ยวกับ “สารชีวภัณฑ์”  ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.  โทร. 0 2577  9016, 02-577 9021   โทรสาร 0 2577  9009  E-mail : tistr@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.