วช.ขยายผลวิจัยสู่ชุมชน สนับสนุนใช้เครื่องเฝ้าระวังไฟป่า ผลดีเกินคาด ต่างชาตินำต้นแบบไปประยุกต์ใช้

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง

          ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในฤดูแล้งของทุกปี ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่เกือบทุกภาคของประเทศไทยมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตมลพิษหมอกควัน หรือค่าพีเอ็ม 2.5  ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพอนามัยของประชาชน และในปัจจุบันสถานการณ์หมอกควัน เริ่มมีปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด แม้จะมีเจ้้าหน้าที่ กลุ่มอาสาสมัครช่วยคอยเฝ้าระวังไฟ เมื่อเทีียบกับจำนวนพื้นป่าที่ต้องเฝ้าระวัง ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ  อีกทั้งวิธีการส่วนใหญ่ยังคงใช้แรงงานคน วช.จึงไดสนับสนุนทุนวิจัยโครงการการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า อาสาสมัคร และชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการเฝ้าระวังไฟป่าโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์

          รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ IntERLab สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า จากแนวคิดเรื่องของการวัดคุณภาพอากาศในปัจจุบันที่เน้นการวัดค่าฝุ่นละอองชนิดต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการวัดค่าจากพื้นที่ในเมืองเป็นหลัก แต่ต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่แล้วเกิดจากไฟป่า คณะนักวิจัยจึงเกิดความคิดที่จะนำอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศไปติดตั้งไว้ในป่าเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเตือนว่า ถ้ามีการเผาไหม้อะไรบางอย่างแล้วมันมีโอกาสจะเกิดเป็นไฟป่าได้  จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยใช้เซ็นเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เรียกว่า “โหนดเซ็นเตอร์” โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยใช้องค์ความรู้จาก โครงการ STIC-ASIA SEA HAZEMON พัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง โครงการ CANARIN กับ intERLab สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย LIP6 (Sorbonne Universite, France) และ University of Bologna (Italy) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้สร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เรียกว่าแพลตฟอร์ม CANARIN โดยติดตัั้งโหนดเซ็นเซอร์หลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น เชียงราย ตาก  และในเอเชียอีกหลายประเทศ เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย มาเลเซียฯ เป็นระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมคุณภาพอากาศครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในเอเซีย  พร้อมกันนี้ โครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ปีงบประมาณ 2564 ได้พัฒนาระบบข้อมูล Big Data ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองการเกิดไฟป่า ความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า สร้างเป็นเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากพลังแสงอาทิตย์ โดยเชื่อมข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลของแพลตฟอร์ม CANARIN (วัดฝุ่น.ไทย)

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาแบบจำลองการเกิดไฟป่าโดยพิจารณาจากสองปัจจัยคือ ปริมาณของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และปริมาณของคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ประกอบกับตัวโหนดเซ็นเซอร์นี้ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตประสานสรรพสิิ่ง (Internet of Things : IoT) และระบบ GPS  ดังนั้น เมื่อเซ็นเซอร์อ่านค่าได้ว่าเกินเกณฑ์จากแบบจำลองการเกิดไฟป่า  ก็หมายความว่ามีโอกาสที่จะเกิดเป็นไฟป่า  จากนั้นจะส่งการแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์บัญชีทางการ “ระวังไฟป่าบ้านโฮ่ง” ให้แก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่วมกับฐานข้อมูลคุณภาพอากาศจากแพลตฟอร์ม CANARIN ที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดคุณภาพอากาศของโครงการฯ   สำหรับพื้นที่ที่โครงการลงไปถ่ายทอดและให้ความรู้แก่ชุมชนและนำอุปกรณ์ไปติดตั้งคือ บริเวณดอยช้างป่่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูนเป็นบริเวณที่เกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี ดอยช้างป่าแป๋เป็นจุดสังเกตการณ์ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตแนวกันไฟรอบๆ ชุมชน  โครงการฯ ได้นำโหนดเซ็นเซอร์ลงไปติดตั้ง 5 จุด แต่ละจุดมีประสิทธิภาพตรวจวัดสภาพอากาศได้ในรัศมี 10 กิโลเมตร  เซ็นเซอร์ทั้ง 5 ตัว จึงสามารถตรวจจับสภาพอากาศได้ครอบคลุมทั้งดอยช้างป่าแป๋ ได้โดยดำเนินการติดตั้งและทดลองการทำงานของเครื่องแล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564          

หลังจากติดตั้งเครื่องโหนดเซ็นเซอร์แล้ว ระบบได้ส่งข้อความแจ้งเตือนไปที่กลุ่ม “ระวังไฟป่าบ้านโฮ่ง” เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูของการเกิดไฟป่า เครื่องโหนดเซ็นเตอร์ได้ส่งคำแจ้งเตือนเข้าไปในไลน์กลุ่มเพราะค่าที่วัดได้สูงผิดปกติ  ชาวบ้านจึงเข้าไปตรวจสอบจากฐานข้อมูลของวัดฝุ่น.ไทย ปรากฏว่าขึ้นจุดเตือนบริเวณตำแหน่งดังกล่าวและมีโอกาสเกิดไฟป่า  ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จึงเดินทางเข้าไปในพื้นที่ปรากฏว่าเป็นไฟป่าจึงช่วยกันดับไฟได้ จึงถือว่าเป็นความสำเร็จของโครงการที่ช่วยแจ้งเตือนและลดความเสียหายจากไฟป่าก่อนที่จะขยายวงกว้างออกไป  เทคโนโลยีจากงานวิจัยนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและชุมชนในการเฝ้าระวังไฟป่าได้ค่อนข้างมาก เป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่  คนในชุมชนจึงกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในโครงการค่อนข้างมาก  สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ยกเว้นกรณีที่เครื่องเกิดความเสียหายโครงการฯ จะเข้าไปช่วยไปดูแล  การติดตั้งจุดแจ้งเตือนไฟป่าจึงได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาก  ในโครงการวิจัยที่จะพัฒนาต่อเนื่องที่ได้รับทุนวิจัยจาก วช. ปีงบประมาณ 2565 จะนำอุปกรณ์นี้ไปติดตั้งเพิ่มที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน เพื่อช่วยแจ้งเตือนเรื่องการเกิดไฟป่า โดยมีอุปกรณ์ที่จะเพิ่มเติมไปติดกับชุดโหนดเซ็นเซอร์คือกล้องวิดีโอที่ทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์  (AI) เพื่อใช้สังเกตกลุ่มควันที่เกิดขึ้น เมื่อเครื่องโหนดเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศว่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดจากแบบจำลอง ประกอบกับการตรวจพบกลุ่มควัน  นั่นหมายความว่ามีโอกาสเกิดเป็นไฟป่าและยังสามารถที่จะระบุตำแหน่งการเกิดไฟป่าได้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ คาดว่าจะติดตั้งได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ โครงการนี้จึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ประเทศในเครือข่ายแพลตฟอร์ม CANARIN ให้ความสนใจและนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนบ้างแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published.