วช. ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ติดตามความก้าวหน้าโครงการแผนมุ่งเป้า ววน. นำโมเดลชุมชนนวัตกรเข้มแข็งรับมืออุทกภัย ณ ต.แม่ข้าวต้ม จ.เชียงราย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลสำเร็จ “โครงการนวัตกรรมกระบวนการชุมชนในการวางแผนรับมือวิกฤตอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” โดย ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ คณารีย์ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะนักวิจัยในพื้นที่ โดยมี นายบุรพล มุ้งทอง ปลัดอำเภอเมืองเชียงราย นายเพียร กันติ๊บ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ข้าวต้ม ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ตำบลแม่ข้าวต้ม เข้าร่วมให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีเป้าหมายในการผลักดันองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับพื้นที่ ผ่านความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้สามารถวางแผนและรับมือกับวิกฤตอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้าน โดยผสานองค์ความรู้ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เป็นผู้นำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคม โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบสำคัญที่สะท้อนบทบาทของงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ทั้งด้านการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตน้ำท่วมอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวด้วยวิจัยและนวัตกรรม

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ คณารีย์ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายในทุกระดับ ทั้งเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ ‘น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง’ ตามนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นใน 10 จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งเชียงรายเป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม โดยโครงการนวัตกรรมกระบวนการชุมชนในการวางแผนรับมือวิกฤตอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นการบริหารจัดการน้ำท่วมที่จำเป็นต้องเริ่มจากชุมชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ การศึกษานี้จึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมกระบวนการชุมชนรู้ทันน้ำท่วม โดยใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับการศึกษาระบบแจ้งเตือน ทั้งจากเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถรับมือกับวิกฤตน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสีย และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาว

หลังจากการนำเสนอคณะผู้บริหารจาก วช. ได้ร่วมหารือกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในอนาคต






วช. มุ่งหวังให้โครงการนวัตกรรมกระบวนการชุมชนในการวางแผนรับมือวิกฤตอุทกภัย เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติของประเทศ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน