สอวช. ร่วมเวที มรภ.สุราษฎร์ธานี ชี้แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต

(7 มิถุนายน 2564) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญบรรยายหัวข้อ “นโยบาย อววน. สู่การพัฒนามหาวิทยาลัยในอนาคต” ภายใต้โครงการอาหารสมองออนไลน์ เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายผ่านระบบออนไลน์กว่า 330 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงความพยายามของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้การเปลี่ยนแปลง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพยายามปรับตัว ใช้ฐานข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ ปรับเปลี่ยนทิศทางมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยมองว่าการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นอย่างมาก และบุคลากรต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กร จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ความรู้กับบุคลากร นำไปเป็นแนวทางทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการปรับเปลี่ยนภาพรวมองค์กรในอนาคตต่อไป 

ด้าน ดร.กิติพงค์ เริ่มการบรรยายโดยให้ข้อมูลถึงทิศทางนโยบาย อววน. กับการพัฒนาประเทศในระยะ 7 ปีข้างหน้า ที่มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้น 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.สังคมและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย เช่น การเพิ่ม eco-efficiency จากการลดการใช้ทรัพยากร 2.เศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย เช่น การลดจำนวนคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน จาก 6.7 ล้านคน ให้เหลือน้อยกว่า 1 ล้านคน 3.เศรษฐกิจนวัตกรรม มีเป้าหมาย เช่น การเพิ่มบริษัทฐานนวัตกรรม (IDE) ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 1,000 ราย ซึ่งการจะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ต้องมีการพลิกโฉมการอุดมศึกษาและพัฒนากำลังคน รวมถึงปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

สำหรับการปรับตัวด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการที่คนมีแนวโน้มอายุยืนขึ้นและมีชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-Stage Life) เมื่อคนมีอายุเพิ่มขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป คนวัยทำงานก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วย เช่น การมีอาชีพที่หลากหลาย มีอาชีพอิสระ เปลี่ยนอาชีพเยอะขึ้น ความต้องการบุคลากรก็จะเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา ในมุมมหาวิทยาลัยในอนาคตที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยี ต่อไปจะเข้าสู่ยุค Digital Transformation ที่ต้องทำให้เกิด Customer Experience มหาวิทยาลัยต้องสร้าง Learner/Student Experience ตามความต้องการของผู้เรียน ต้องทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า อาจารย์อาจต้องเปลี่ยนบทบาทไปเป็นโค้ช หรือเมนเทอร์ เห็นได้จากตัวอย่างของ Western Governors University ที่ก่อตั้งขึ้นจากการมองว่ามหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์การเรียนการสอน โดยเปลี่ยนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่มีคุณภาพเทียบเท่ากับการเรียนออฟไลน์ พบว่า มีจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้เรียนกว่า 73% เป็นกลุ่มคนที่ทำงานเต็มเวลา (Work full time) และ 23% เป็นคนที่มีรายได้ต่ำ แต่คนที่เรียนจบจากที่นี่ มีอัตราการจ้างงานจากผู้ประกอบการเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างวิธีคิดที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวในอนาคต

“ความต้องการบุคลากรจะเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมา ตลาดผู้ใช้บุคลากรต้องการทักษะความสามารถที่ใช้งานได้ ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้หรือวุฒิ ผู้เรียนต้องการมีงานทำ นอกจากนี้ผู้เรียนมีความคาดหวังต่อผลที่จะได้รับจากอุดมศึกษาสูงเกินกว่าที่มหาวิทยาลัยจะส่งมอบมาก ขณะเดียวกันการวัดความสำเร็จของการจัดการศึกษาในอนาคต จะวัดจากการมีงานทำ ความก้าวหน้าในอาชีพ การเพิ่มขึ้นของรายได้ คุณภาพบัณฑิตตรงตามความคาดหวังของผู้ใช้บุคลากรหรือไม่ รวมถึงการทำงานตรงวุฒิที่เรียนมา และความคุ้มค่าของการลงทุนเวลาและทรัพยากรในการเล่าเรียนของบัณฑิต ซึ่งการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox ตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 69 เป็นอีกแนวทางที่ทำให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ ถือเป็นโอกาสในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการศึกษาไทย ในการทำหลักสูตรใหม่ ภายในขอบเขตของกระทรวงฯ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านการศึกษาในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างโมเดล “ทำงานก่อน ปริญญาตาม” ที่ผู้เรียนสามารถทำงานได้ในระหว่างเรียน โดยผู้ประกอบการลงทุนร่วมกับมหาวิทยาลัย ขณะเรียนผู้เรียนจะมีงานและมีเงินเดือนควบคู่ไปด้วย โดยสามารถเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จะใช้ในการทำงานได้ เมื่อเรียนจบแล้วผู้ประกอบการก็จะได้พนักงานที่สามารถทำงานได้ทันที” ดร.กิติพงค์ กล่าว

สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับการฟื้นตัวจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 คาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีรายได้ลดลงอย่างชัดเจน ในภาคการท่องเที่ยวจะต้องปรับโมเดลสู่ธุรกิจใหม่ระยะยาว เช่น Wellness & Medical tourism ปรับตัวรองรับพฤติกรรมใหม่ของนักท่องเที่ยว เช่น การใช้สมาร์ทโฟน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะนำเอาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยมากขึ้น ในภาคเกษตร มีการปรับตัวสู่เกษตรมูลค่าเพิ่มสูง เช่น โปรตีนทางเลือก การปรับสู่ Smart farming เป็นต้น ที่สำคัญคือการใช้มหาวิทยาลัยเป็นขั้วความเจริญเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยเป็นทั้งแหล่งผู้ซื้อ (University Demand) แหล่งวิจัย/พัฒนา/นวัตกรรม บริการวิชาการเพื่อพัฒนาสินค้าชุมชน ครอบคลุมถึงมหาวิทยาลัยจัดตลาด (Market Platform) เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าด้วยตัวเองในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องมือทางนโยบายและมาตรการสนับสนุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาและการปรับตัวสู่อนาคต มีกองทุนส่งเสริม ววน. ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเป็นงบประมาณพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ และยังมีกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศบนฐานความเชี่ยวชาญและอัตลักษณ์ของสถาบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการปลดล็อกหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาและเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา การปลดล็อกการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการจ้างที่ปรึกษา ที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่จะสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published.