GISTDA จับมือ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน


สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หรือ มรอ. ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม และให้บริการทางวิชาการ ในรูปแบบออนไลน์ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 GISTDA ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ GISTDA และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาหลักสูตร จัดการเรียนการสอนและถ่ายทอดเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนบุคลากร เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่นักศึกษาและบุคลากร รวมถึงการส่งเสริมและผลักดันการศึกษาการทำวิจัย การสร้างนวัตกรรม พัฒนาและแลกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน เช่น ด้านการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนวัตกรรม รวมถึงห้องปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม THEOS-2 เพื่อร่วมกันในพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้างในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภายในประเทศหลายๆ แห่งเกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้งาน การทำและพัฒนาข้อมูลให้มีความทันสมัย หรือแม้แต่การศึกษาวิจัย เป็นต้น

ด้าน รศ. ดร. สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ปรัชญาการเป็น มหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีการดำเนินงานในรูปแบบบูรณาการพันธกิจการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการ ทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชนและภาควิชาการ นำประเด็นปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เป็นโจทย์ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาร่วมกับการใช้องค์ความรู้ วิจัยสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและสามารถบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของชุมชนและสังคมได้ครอบคลุมทุกมิติ และเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้ในที่สุด ทั้งนี้ ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความร่วมมือในครั้งนี้

และพร้อมที่จะสนับสนุนบทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสร้างความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนต่อไปในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published.