สดร. ร่วมกับ ททท. เปิดตัวเส้นทางดูดาวในเมืองไทย พร้อมขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 12 แห่งแรกของไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ดาราศาสตร์ แนะนำเส้นทางท่องเที่ยวดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมประกาศรายชื่อ 12 พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย รณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง คืนความมืดให้ท้องฟ้า คืนธรรมชาติให้กับสิ่งมีชีวิต เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานที่ไม่จำเป็น โดยมี นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สดร. ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่นักเดินทางผ่านการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อตอบรับแนวโน้มการการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่ และพฤติกรรมของนักเดินทางในยุค Social Distancing ซึ่งต้องการพื้นที่พักผ่อนที่สร้างความสุขใกล้ตัวได้ง่ายๆ ท่ามกลางธรรมชาติ ททท. จึงสร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวด้วยจุดขายใหม่ Dark Sky Tourism นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Amazing Dark Sky in Thailand” พร้อมกับเปิดตัวคู่มือการท่องเที่ยว“ชวนเธอ ไปชมดาว” เพื่อสร้างความประทับใจในเรื่องราวของแหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการดูดาว โดยอ้างอิงข้อมูลเชิงดาราศาสตร์มากำหนดเส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกหรือผู้ให้คำแนะนำเรื่องดวงดาวบนท้องฟ้า อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความพร้อมของพื้นที่การท่องเที่ยวทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในโอกาสปีท่องเที่ยวไทย 2565 – 2566 หรือ “Visit Thailand Year 2022 – 2023 : Amazing New Chapters” เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยการทำการตลาดแบบเฉพาะ ผ่านการสร้างคุณค่าประสบการณ์ที่แตกต่างตลอดการเดินทาง ให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจพิเศษ ผู้ชื่นชอบการดูดาว สนใจดาราศาสตร์ ติดตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของดวงดาวต่าง ๆ และกลุ่มดาวจักรราศีที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน นอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ยังสนุกสนานไปกับกิจกรรมสอดแทรกความรู้ดาราศาสตร์ควบคู่ไปด้วย ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้น
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ Dark Sky in Thailand หรือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ได้ริเริ่มดำเนินการร่วมกับ ททท. มาตั้งแต่ปี 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง และร่วมกันอนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืน สนับสนุนให้ประชาชนใช้แสงสว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อคืนธรรมชาติให้กับสิ่งมีชีวิต เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพของเรา และลดการสิ้นเปลืองพลังงานที่ไม่จำเป็น ผ่านการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อุทยานท้องฟ้ามืด 2) ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 3) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล 4) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง ทั้งนี้สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน เป็นพื้นที่เปิดโล่งซึ่งสามารถสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ได้ด้วยตาเปล่า รวมถึงมีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น
ในปี 2565 ได้จัดพิธีมอบโล่ และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรกภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” มีพื้นที่ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 รวมทั้งสิ้น 12 แห่ง มีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี นับเป็นพื้นที่นำร่องตัวอย่างที่จะช่วยกระตุ้นให้พื้นที่ และชุมชนใกล้เคียงเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด และเข้าร่วมโครงการในโอกาสต่อไป ในอนาคต สดร. ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 จำนวน 12 แห่ง ได้แก่
1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
2. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
4. อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
5. อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ ประเภท อุทยานท้องฟ้ามืด
6. ชุมชนออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประเภท ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
7. ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
8. โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
9. สนามมวกเหล็ก เอทีวี อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
10. บ้านไร่ยายชะพลู อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
11. เดอะเปียโน รีสอร์ท อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
12. ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ประเภท เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญ และมีส่วนผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดขึ้นในประเทศไทย นอกจากเป้าหมายหลักในการสร้างความตระหนักด้านมลภาวะทางแสง ให้เกิดการใช้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการประหยัดพลังงาน การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังนำมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ เป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับครู นักเรียน และผู้สนใจ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่ง ททท. จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เกิดเป็นกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ผู้สนใจสามารถสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/