วว. จับมือ NIA พันธมิตรรัฐ/เอกชน 15 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนโครงการเสือติดดาบ มุ่งยกระดับการแข่งขันผู้ประกอบการไทย กระตุ้นพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน 15 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “กลไกการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมเพิ่มเติมจากการสนันสนุนด้านการเงิน” หรือโครงการ “เสือติดดาบ” เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทยให้พร้อมในการแข่งขันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมหรือธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ร่วมเป็นเกียรติด้วย ในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องโถง ชั้น 1 NIA ถนนโยธี
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงบทบาทของ วว. ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวว่า จะให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภายใต้การพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมนวัตกรรม หรือเขตส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการ “เสือติดดาบ” หรือ “NIA X Alliance” การส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการ บูรณาการบริการให้คำปรึกษาแนะนำจากงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการรองรับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในเครือข่ายซึ่งมีความต้องการขอคำปรึกษาหรือขอให้บริการที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนข้อมูลด้านการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลและเครือข่ายระหว่างกันผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน พัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการไทยโดยแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการเพื่อส่งต่อให้เกิดการพัฒนา เสริมสร้างและส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมสู่สากลหรือในด้านที่เหมาะสม
“…ข้อเสนอสิทธิพิเศษจาก วว. สำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมเครือข่ายของ NIA ภายใต้ความร่วมมือนี้ ได้แก่ ค่าบริการศึกษาอายุการเก็บรักษา อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ผลผลิตทางการเกษตร ในบรรจุภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา บริการวิจัยและการพัฒนาสูตรแพ็คเกจเริ่มต้น บริการผลิตเครื่องสำอางรูปแบบต่างๆ การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดและเครื่องสำอาง อาทิ ผิวขาว กระจ่างใส รักษาแผลเป็น ปกป้องมลภาวะ ต้านอักเสบ กระตุ้นการงอก ลดการหลุดร่วงของเส้นผม ทำให้ผมดำ ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด ผิวกระชับ ลดเซลลูไลท์ และการประเมินความปลอดภัย เป็นต้น…” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับ 3 ภัยคุกคามที่ใหญ่ ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และการเกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมที่ไม่มีแผนรองรับและต้องประสบกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น NIA จึงมีแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความสามารถด้านนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ซึ่ง “เสือติดดาบ” นั้นเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการธุรกิจ และการขยายผลการเติบโตของธุรกิจ ผ่านบริการและสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และสมาคมระดับแนวหน้าของประเทศ เป็นการเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการใช้นวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตและสามารถยกระดับธุรกิจหรือปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกนำร่องในการสร้างแบรนด์ นวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand) ด้านการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการและหน่วยงานพันธมิตร
อนึ่ง โครงการเสือติดดาบ เป็นกลไกการสนับสนุนรูปแบบใหม่โดยเน้นการส่งเสริมความสามารถเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Business) เพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน (Non-Financial Support) ภายใต้ชื่อ “กลไกการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรม เพิ่มเติมจากการสนับสนุนด้านการเงิน” หรือ “NIA X Alliance” โดยมี NIA เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและผู้ให้บริการ (Service Provider) ใน 7 สาขา ดังนี้ 1. การออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์/ โรงงานต้นแบบ (OEM) 2. มาตรฐานอุตสาหกรรม 3. การเงินและการบัญชี 4. การบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรม (แผนธุรกิจ/การตลาด) 5. กฎหมายธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา 6. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และ 7. การค้าระหว่างประเทศ โดยกลไกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสามารถเข้าถึงบริการและสิทธิประโยชน์จากบริษัทที่ปรึกษา/ผู้ให้บริการ (Service Provider) ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทยให้พร้อมในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมหรือธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค์ทางธุรกิจ (Pain Point)วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000, 092-460-1419 (คุณอัญชลี พยัคฆะโส) เว็บไซต์ www.tistr.or.th E-mail : Anchalee_pha@tistr.or.th