บพข. เผยผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2563 ภายใต้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ครอบคลุมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทั้งด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว พลังงาน ดิจิทัล และบีซีจี
ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า บพข. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและศาสตร์ต่างๆ เชื่อมโยง Value Chain ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยแบ่งกรอบงานวิจัยเป็น 7 กรอบ ประกอบด้วย เกษตรและอาหารมูลค่าสูง, สุขภาพและการแพทย์, การจัดการการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, เศรษฐกิจหมุนเวียน, บีซีจี เชิงพื้นที่ โดยเน้นการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ในภูมิภาค
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลงานวิจัยจะไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม บพข. ยังสนับสนุนทุนวิจัยแผนงานวิจัยด้านกลไกการขับเคลื่อนทั้งด้าน Technology Localization โดยเป็นการวิจัยระดับ TRL5 ขึ้นไป เช่น การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) หรือเทคโนโลยีสำคัญที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศโดยคนไทย และผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และ/หรือด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจนวัตกรรมใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยผ่านการทดลองใช้งานจริง สนับสนุนด้าน Deep Science & Technology การส่งเสริมขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงออกสู่เชิงพาณิชย์ ด้าน National Quality Infrastructure เพื่อวางแผนการลงทุนที่จำเป็นของภาครัฐที่ต้องมีการลงทุนอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้และประเทศไทยจะยังได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนดังกล่าว Public Private Partnership-Innovation Driven Enterprise (PPP-IDEs) เป็นการสนับสนุนที่มุ่งศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อ (รัฐ เอกชน) กับ SMEs เพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของหน่วยงานนั้นๆ ตลอดจนเชื่อมโยงองค์ความรู้จากบริษัทใหญ่สู่บริษัทในห่วงโว่คุณค่า เพื่อยกระดับทั้งอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน และ Global Partnership ที่สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทำให้เกิดกระบวนการเลือกรับและถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีอย่างมีทิศทางตรงตามความต้องการของประเทศ เกิดการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“ในปีงบประมาณ 2563 บพข. ได้รับการอนุมัติงบประมาณเพื่อให้ทุนวิจัยทั้งสิ้น 3,170.83 ล้านบาท โดยงบประมาณจำนวน 561.93 ล้านบาท ได้นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผ่านการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR (qPCR) เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยได้ร่วมพัฒนาและผลิตชุดตรวจจากต้นแบบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาขึ้น และผลิตชุดตรวจ 380,000 ชุด เพื่อมอบให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมวิจัยพัฒนาชุดตรวจเพื่อลดขั้นตอนการตรวจในลักษณะ Extraction-free Real-time RT-PCR เพื่อให้ได้ชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ สะดวกและรวดเร็วในการตรวจ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสีสำหรับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และการทดสอบใช้ในวงกว้าง เพื่อให้สามารถนำไปใช้บูรณาการกับแผนควบคุมโรค และนำไปติดตั้งใช้งานที่ด่านคัดกรองโรคที่สนามบิน และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการตรวจคัดกรองแบบเร็วนี้ให้ผลภายใน 1 ชั่วโมงซึ่งจะช่วยสนับสนุนการคัดกรองโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป” ดร.สิรี กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานแผนงานเกษตรและอาหารมูลค่าสูง ได้ให้ทุนในหลายโครงการสำคัญ อาทิ โครงการผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟีขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม โดยเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับบริษัท ควอลิตี้พลัสเอสเทติคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อพัฒนาและขยายกำลังการผลิตเครื่องสกัดด้วยของเหลวความดันสูง สำหรับการแปรรูปเปลือกมังคุดอินทรีย์และผลผลิตการเกษตรเชิงพาณิชย์ และเพื่อขยายการผลิตสารแซนโทนจากเปลือกมังคุดจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เจลนาโนอิมัลชันที่บรรจุแซนโทนจากเปลือกมังคุดสำหรับการรักษาแผลกดทับ
แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ มีหลายผลงานวิจัยเด่น ที่ริเริ่มไปแล้วเช่นการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึงสำหรับกระตุ้นเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด (Biosimalar pegfilgrastim หรือ PEG-GCSF) ที่ผลิตในประเทศไทยตามมาตรฐานยุโรปเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยลดการนำเข้าและเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อส่งออก ลดต้นทุนในการผลิตสารชีวภัณฑ์ และทำให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่ถูกลง แผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ มีตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากพอลิเมอร์ชีวภาพเชิงประกอบขั้นสูงโดยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิจากเส้นพลาสติกชีวภาพเชิงประกอบโดยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยการพัฒนาสูตรคอมพาวนด์และเส้นเชิงประกอบพร้อมใช้สำหรับขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์รับรู้อุณหภูมิ ซึ่งสามารถนำไปสู่การผลิตภาชนะต่างๆ ที่บ่งบอกสถานะร้อนเย็นได้ เครื่องประดับที่เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิร่างกายแล้วมีการเปลี่ยนสีหรือเป็นชิ้นงานใช้เป็นวัสดุรับรู้อุณหภูมิ รวมถึงยังมีผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างการศึกษาแนวทางเพื่อเปลี่ยน PPE ใช้แล้วและขยะปลอดเชื้อให้เป็นพลังงานโดยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน โดยเป็นการสร้างต้นแบบการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อ และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ ด้วยเทคโนโลยี 3-State Gasification และสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านดังกล่าว โดยมีผลพลอยได้คือพลังงานทดแทนในรูปพลังงานความร้อนหรือไฟฟ้า
แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพด้านกีฬาและสปา โดยการวิเคราะห์ SWOT จะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ จัดทำแผนที่กลยุทธ์ แผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปาเพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในด้านดังกล่าวที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป ส่วนแผนงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ดำเนินการเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ลามิเนตกับอะลูมิเนียมฟอยล์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมวัสดุ rFoil จากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต ลามิเนตกับอะลูมิเนียมฟอยล์ และขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน ที่มีมูลค่าเพิ่ม 1.5 เท่า นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากวัสดุ rFoil รวมทั้งเทคโนโลยีอัพไซคลิ่ง สำหรับผลิตภัณฑ์ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบ้านและสวน เป็นต้น
แผนงานด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีการให้ทุนเกี่ยวกับระบบแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการบริการการดูแลการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ แผนงานบีซีจี ภูมิภาค ได้มีการให้ทุนในหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการป้องกันและชะลอโรคไตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำตู้อัจฉริยะต้นแบบที่สามารถตรวจบ่งชี้การทำงานของไตระยะเริ่มต้น ชุดทดสอบตัวบ่งชี้การทางานของไต (NGAL) และชุดทดสอบตัวบ่งชี้การทางานของไต (CyclophylinA) โดยประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงสูงจะได้รับการคัดกรองในราคาถูกและสะดวกเพราะติดตั้งในพื้นที่ และได้รับการคัดกรองโรคไตก่อนที่ไตจะเสื่อมมากขึ้นและพัฒนาไปเป็นโรคไตเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ประโยชน์ในการติดตามการดำเนินของโรคเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการชะลอไตเสื่อม สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ระดับอำเภอ จะมีระบบลงทะเบียน ติดตามผลและรายงาน (CKD registry) นอกจากนี้ ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อพัฒนาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้าดีแบบครบวงจร รวมทั้งขยายการทำงานให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้น และพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ประสานและติดตามผลในทำงาน การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้าดีในทุกระดับและทุกมิติ ตลอดจนเพื่อพัฒนาการป้องกันการเฝ้าระวังการคัดกรองและการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้าดีในระดับชาติที่รูปธรรมและยั่งยืน และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนประเทศ
แผนงาน Deep Science and Tech Accelerator ได้มีการสนับสนุนให้เกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโครงการที่สร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้นหรือวิสาหกิจฐานนวัตกรรม ส่งเสริมและเร่งงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ให้สามารถไปอยู่ในกลุ่มที่ระดับ TRL 7 – 8 หรือสามารถผลักดันเพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตทางการตลาดที่มีมูลค่าสูง รวมถึงเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยเทคโนโลยี นวัตกรรม โดยบุคลากรของมหาวิทยาลัย และเครือข่ายพันธมิตรของศูนย์วิจัยฯ ไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบผลงานวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมก้าวกระโดด เกิดเป็น New S-Curve ตลอดจนเกิดการจดสิทธิบัตร เกิดเป็นบริษัท Spin-off Company และเกิดการจ้างงานใหม่โดยเป็นงานขั้นสูงอีกด้วย
ด้านแผนงาน Technology Localization มีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นการออกแบบสร้างต้นแบบโบกี้(Bogie) ต้นแบบตัวถัง (Car Body) ต้นแบบมอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) ต้นแบบอินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อนมอเตอร์ลากจูง (Traction Inverter) ต้นแบบระบบปรับอากาศ (Cooling System) ต้นแบบแพนโตกราฟ (Pantograph) ต้นแบบระบบจ่ายไฟฟ้าเสริม (Auxiliary Power Unit) ต้นแบบอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง (Fastener) และต้นแบบหมอนคอนกรีต (Sleeper) ผสมยางพาราสำหรับรถไฟฟ้ารางเบา และทดสอบคุณสมบัติตามมาตรฐาน เป็นต้น