ตั้งเป้าพัฒนากำลังคน สู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกและความเป็นกลางทางคาร์บอน 200 คน ภายใน 5 ปี พร้อมพัฒนาหลักสูตรรองรับระดับนานาชาติ
(เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 11 ในประเด็น “การพัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนประเทศไทย สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission” จากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก นี่จึงถือเป็นประเด็นเร่งด่วนเรื่องหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นายชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธุ์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ในฐานะกรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย และ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงเป้าหมายของประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ว่าจะไปสู่เป้าหมายการทำให้ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 และจะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย โดยการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน
“ประเทศไทยได้รับคำชมจากนานาประเทศว่าเรามีความก้าวหน้าที่ดี และในบางอุตสาหกรรม เราเป็นอันดับหนึ่งในเวทีนานาชาติ เรื่องการพยายามไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้นการทำงานในส่วนนี้จึงต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ต้องทำงานหลายอย่าง ทั้งเรื่องการปรับรูปแบบของการผลิตและบริการ แนวทางการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งในไทยและต่างประเทศ” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ด้านนายชัพมนต์ กล่าวว่า ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทและภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนหรือมีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ มีความตระหนักและมีแนวทางการดำเนินงานในด้านนี้อยู่แล้ว เนื่องจากมีนโยบายในระดับโลกที่ชัดเจน ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทลูกในไทยตื่นตัว โดยส่วนตัวอยู่ในอุตสาหกรรมและกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และมีความเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ จึงได้มีการริเริ่มจัดตั้งชมรม RE100 Thailand ขึ้นมา โดยดึงบริษัท ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาคนโยบาย มาทำงานร่วมกัน เพื่อส่งสัญญานว่าภาคเอกชนมีความตระหนักในด้านนี้แล้ว เป็นแนวทางให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้ว่าควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร
“เป้าหมายหลักในการจัดตั้งชมรม RE100 ขึ้น จนกลายมาเป็นสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทยในปัจจุบัน คือต้องการให้ผู้ประกอบการ ทั้งในฝั่งอุปสงค์ (Demand) และฝั่งอุปทาน (Supply) ได้มาเจอกัน เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมและเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ได้เดินหน้าจัดทำ FTI platform เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทาน หาพันธมิตรในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงาน ไฟฟ้า รวมถึงแนวทางอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดแพลตฟอร์มนี้พร้อมใช้งานจริงแล้ว” นายชัพมนต์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อต้องมีการเร่งให้หลายโครงการของแต่ละบริษัท สามารถไปขึ้นทะเบียนเพื่อตรวจสอบโครงการเหล่านั้นว่าเป็นโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วได้เครดิต จึงเป็นจุดที่ต้องหารือกันว่าจะพัฒนาบุคลากรของเราอย่างไร เนื่องจากทุกวันนี้การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ได้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ต้องการผู้เชี่ยวชาญมาประเมิน ปัจจุบันต้องจ้างจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงต้องพูดคุยร่วมกันว่า รัฐบาลจะมีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างไร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกันตลอดทั้งห่วงโซ่ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสามารถเร่งการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น
ดร. สมปอง กล่าวว่า บพค. และ RE100 ได้มีการลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างกำลังคนระดับสูงที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล สนับสนุนการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภาคเอกชน ซึ่งบุคลากรด้านนี้ขาดแคลนอย่างมาก โดยเป้าหมายภายใน 5 ปี ตั้งเป้าผลิตบุคลากรในด้านนี้ให้ได้ 200 คน และในปี 2565 จะเริ่มพัฒนาหลักสูตรที่รองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ตอบโจทย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทั่วโลก
“เราเห็นช่องว่างทั้งเรื่องของการสร้างคน และเรื่องของประเด็นวิจัย ส่วนที่สำคัญคือคุณภาพและมาตรฐานของคนที่เราจะสร้างขึ้น ต้องมีการระดมสมองในการจัดทำหลักสูตรที่อยู่ในระดับโลก ระดับนานาชาติ และในส่วนของงานวิจัยที่จะต้องเดินหน้าต่อ ต้องช่วยกันชี้เป้าโจทย์วิจัย และสร้างกระบวนการการทำงานวิจัยร่วมกัน” ดร. สมปอง กล่าว
ด้าน ดร. เศรษฐ์ กล่าวว่า ไทยยังมีช่องว่างที่จะพัฒนากำลังคน เพื่อมาสอดรับกับเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งต้องมองใน 3 ระดับ 1) ในระดับพื้นฐาน (Baseline) ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจเรื่องก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ทั้งในกลุ่มวัยที่จะต้องไปทำงาน หรือวัยเด็กที่ต้องเรียนรู้ เป็นกำลังสำคัญในอนาคต ทำอย่างไรให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้ไปได้เร็วขึ้น ซึ่งภาครัฐ ภาคการศึกษา ก็ต้องเร่งพัฒนาหลักสูตร กลไกการเรียนการสอนด้วย 2) การหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ในภาคอุตสาหกรรม ภาคเมือง ภาคป่าไม้ และภาคเกษตร ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งองคาพยพ และ 3) ระดับนโยบาย ต้องดูว่าจะช่วยอะไรภาคเอกชนได้บ้าง และต้องมีแรงจูงใจเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้น
ในส่วนของการขับเคลื่อน มองว่าไม่ใช่เรื่องของมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง จึงมีรูปแบบการทำงานแบบ Consortium ขึ้นมา ให้บางมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งต้น แล้วร่วมบูรณาการกับเพื่อนมหาวิทยาลัย รวมถึงภาคเอกชนที่เป็นผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) เข้ามาร่วมกันมองว่าควรจัดทำหลักสูตรอย่างไร ให้เห็นผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อให้ได้กำลังคนที่เพียงพอต่อการให้บริการภาคเอกชน หากมีกำลังคนเพียงพอ ก็จะสามารถแข่งขันได้ในเรื่องของการให้บริการ ซึ่งการที่ภาครัฐ ภาคการศึกษา บพค. และภาคเอกชน จับมือทำงานร่วมกัน ถือเป็นทิศทางที่ดีและชัดเจน เชื่อว่าภายใน 2 ปี เราจะได้หลักสูตรและสามารถผลิตกำลังคนรุ่นแรกได้ 20-30 คน