อว. จับมือ วธ. ลงนามพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรม ด้าน สอวช. เผยแนวทางพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม และ Soft power ของไทย ต่อยอดขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ระดับสากล
(เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้ร่วมลงนาม และมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นสักขีพยาน ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งในงานยังได้มีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นวิทยากร ร่วมกับนายกรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธร นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสท์ระดับโลก และนางวิรยาร์ ชำนาญพล ผู้อำนวยการกลุ่มระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร
ดร. กาญจนา กล่าวถึงมุมมองในการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ที่บทบาทของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) จะสามารถเข้าไปสนับสนุนได้ ทั้งในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างคุณค่าใหม่ ตั้งแต่ตาน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในส่วนของระบบข้อมูลที่กระทรวงวัฒนธรรมมีการจัดเก็บไว้อยู่แล้วในหลายส่วน จะสามารถเข้าไปช่วยได้ในการทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และเก็บข้อมูลไว้ได้ในระยะยาว รวมถึงการทำ Cultural map ในด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรม อาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่ง กระทรวง อว. เริ่มทำไปบ้างแล้ว ถือเป็นการทำงานและการบูรณาการในด้านข้อมูลร่วมกัน และเชื่อมโยงลงไปถึงในระดับพื้นที่
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) การใช้ดาวเทียมในการถ่ายภาพ ให้เห็นแหล่งอารยธรรม เห็นเส้นทางใหม่ๆ ที่สามารถนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ที่สร้างความภาคภูมิใจและเข้าถึงชุมชนได้ รวมถึงการเชื่อมโยงไปกับจักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse เป็นการถ่ายทอดผ่านสื่อในรูปแบบใหม่ สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ไปจนถึงการอนุรักษ์ และส่งต่อศิลปวัฒนธรรมไปยังคนรุ่นต่อไปได้ ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมโยงไปยัง e-Market Place ให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในแง่ของการตั้งโจทย์วิจัยเชิงลึก ดร. กาญจนา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้การทำงานวิจัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยต้องมุ่งไปดูเป้าหมายร่วมใหญ่ๆ ในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้ง 2 กระทรวง และถอดออกมาเป็นโจทย์ในการทำงานที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เป็นโอกาสในการทำวิจัยที่จะเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมองถึงการเชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรม หรือการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นไปในระดับสากลด้วย
“หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า มีโอกาสในการจ้างงานสูง ซึ่งกระทรวง อว. มีกลไกในการบ่มเพาะนักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาจบใหม่ ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดงานได้ รวมถึงการต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการสร้างกลยุทธ์ร่วมกัน ในมิติเรื่อง Soft power ทั้งในมุมสังคม ท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม” ดร. กาญจนา กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ในด้านการพัฒนากำลังคนและการใช้ประโยชน์ทุนทางวัฒนธรรม มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาช่างศิลป์ท้องถิ่นและต่อยอดศิลปะชุมชน การพัฒนากลไกและมาตรการพัฒนากำลังคนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตร upskill/reskill และการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศในด้านวัฒนธรรม (Young Talent Thailand) การพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาเครือข่ายงานวัฒนธรรม และการสนับสนุนนวัตกรรมวัฒนธรรมเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน
ในส่วนของกลไกการส่งเสริมการบริหารโอกาสจากทุนอารยธรรมด้วย อววน. มีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ทุนทางวัฒนธรรม โดยรวบรวมความรู้จากแหล่งต่างๆ และเผยแพร่ด้วยการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ออกสู่สาธารณะและประชาชนทั่วโลก มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม ด้วยการส่งเสริมให้นำงานวิจัยไปถ่ายทอด/ต่อยอดขยายผลให้ผู้ประกอบการและชุมชน รวมถึงสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนวิจัยต่อยอดงานวิจัย มีการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ผ่านการสนับสนุนการทำงานสร้างสรรค์ให้คนที่มีแนวคิดสร้างสรรค์มาทำธุรกิจร่วมกัน และสนับสนุนให้มี Research coach มีการพัฒนาพื้นที่และเครือข่ายสร้างสรรค์ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่/ย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างๆ และสนับสนุนเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วย