วว. เสริมแกร่งเกษตรกรรมไทย วิจัยพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

          ประเทศไทยมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม และเป็นอาชีพมั่นคงที่สามารถสร้างรายได้หลักให้แก่พี่น้องเกษตรกรมาอย่างยาวนาน  เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างผลผลิตให้กับคนในประเทศได้บริโภคเพื่อการดำรงชีพ  ในการทำเกษตรกรรมนั้นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่เพาะปลูกก็คือ ปุ๋ยและความอุดมสมบูรณ์ของดิน  โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิดจำหน่ายในท้องตลาด แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตจากวัสดุธรรมชาติในปริมาณน้อย

          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ หรือ ศนก. ซึ่งมีจุดเด่นภารกิจความเชี่ยวชาญและงานบริการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ด้านการวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นบ้านและพืชเศรษฐกิจใหม่ การปรับปรุงพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงเห็ด เทคโนโลยีปุ๋ย จุลินทรีย์และชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร  เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว  การบริการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช

“… วว. นำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและพัฒนาในกรอบความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปสู่การใช้จริงและเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในการเพาะปลูกพืชและตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย BCG โมเดล ให้กับพี่น้องเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน  โดยเฉพาะเทคโนโลยีปุ๋ย วว. ประสบผลสำเร็จในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญของนักวิจัยจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลากว่า 59 ปี ก่อเกิดเป็นเทคโนโลยีปุ๋ยที่นำไปผลิตปุ๋ยชนิดต่างๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพและมาตรฐานด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลติ  ผู้ว่าการ วว.  กล่าว

ทั้งนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเจริญเติบโตของพืช อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องเกษตรกร  ดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง   วว. วิจัยและพัฒนาสูตรปุ๋ยให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการของพืชและการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียปุ๋ยส่วนเกินที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เป็นปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพบำรุงทั้งต้นไม้และบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ  เจริญงอกงามดี  ให้ผลผลิตสูง  และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน  การผลิตปุ๋ยจะใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น มูลวัว มูลไก่ ที่ตากแห้งแล้ว มาทำการบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับปุ๋ยยูเรีย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นใช้น้ำฉีดพ่นผสมให้มีความชื้นประมาณ 50-60 % (สังเกตได้จากนำมูลสัตว์ที่ผสมแล้วมาบีบด้วยมือ ถ้าปล่อยมือออกแล้วยังคงเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือก้อนกลมก็ได้)  โดยให้ความสูงของกองไม่เกิน 1 เมตร เสร็จแล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติกหรือผ้าใบเพื่อป้องกันไม่ให้กองปุ๋ยสูญเสียความชื้น  ในระหว่างการหมักกองปุ๋ยจะเกิดความร้อนสูงมาก ควรทำการกลับกองปุ๋ยครั้งแรกที่ระยะเวลา 3 วัน และกลับครั้งต่อไปทุกๆ 7 วัน (วันที่ 3, 7, 10, 17 และ 24 วัน) รวมเป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน  กองปุ๋ยหมักจะมีอุณหภูมิลดต่ำลง เมื่อปุ๋ยหมักมีสีเข้มและมีลักษณะร่วนซุย แสดงว่าการหมักปุ๋ยเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้นำปุ๋ยที่ได้ไปทำการอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ด  แล้วนำไปตากแดดอย่างน้อย 2-3 วัน บรรจุใส่ถุงเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายได้

ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา   วว. วิจัยและพัฒนากระบวนการหมักปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบที่มีมากในแต่ละชุมชน นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ มูลสัตว์ ของเหลือใช้จากผลิตผลการเกษตร ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรม เช่น กากทะลายปาล์ม กากตะกอนหม้อกรองอ้อย เป็นต้น โดยนำวัตถุดิบดังกล่าวมาหมักตามกรรมวิธี วว. จนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์มาผสมกับแม่ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ดิน แล้วนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามความต้องการของยางพาราในแต่ละพื้นที่

ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน    ใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกับลูกหมุนที่ระบายอากาศตามหลังคาบ้าน อาคาร หรือโรงงาน ซึ่งสามารถระบายความร้อนได้ดี  โดยนำหลักการนี้ใช้กับปุ๋ยหมักในซองหมักที่ทำจากบล็อกประสาน วว. พบว่า ทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน เป็นการพัฒนาวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้มีต้นทุนที่ต่ำและประหยัดแรงงาน เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก

ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด /โปรแกรมการคำนวณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสำหรับพืชเศรษฐกิจ  เป็นการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์  เพื่อวางแผนจัดการดินและปุ๋ย  ลดต้นทุนการผลิตพืช และสนับสนุนการวางแผนการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อการปลูกข้าว

ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว    เป็นปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของข้าว ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา  ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าฯ ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบคือมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น การนำมูลวัวที่ใหม่และแห้ง ปริมาณ 950 – 1,050 กิโลกรัม มากองบริเวณพื้นปูน เติมปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 2–5 กิโลกรัม เติมปุ๋ยสูตร 0-3-0 ปริมาณ 20 – 40 กิโลกรัม ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับการเติมน้ำให้มีความชื้นร้อยละ 40–60 ใช้วัสดุที่สามารถกันน้ำได้คลุมให้มิด เพื่อป้องกันฝนและไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากกองปุ๋ย และกลับกองปุ๋ยหมักที่ระยะเวลา 3 , 10,  17 และ 24 วัน หลังจากการกอง จากนั้นผสมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ให้มีปริมาณธาตุอาหารหลักที่เพียงพอต่อการเจริญของข้าว 1 รอบการผลิต และสารที่มีความสามารถในการดูดยึดประจุบวกสูงลงไปในปุ๋ย เพื่อให้เกิดการละลายช้า

ปุ๋ยปลาจากวัสดุเหลือใช้   โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลาและเลือด ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หลังจากการหมักจนได้ที่แล้วจะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม โดยมีธาตุกำมะถัน เหล็ก ทองแดง และ แมงกานีส เป็นธาตุอาหารรอง นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและอะมิโนแอซิด ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา จากการนำไปใช้จริง วว. พบว่า ปุ๋ยปลาจะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์  เช่น ดอกไม้ให้สีสดขึ้นและผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งช่วยเร่งการแตกยอดและตาดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้

ปุ๋ยมูลไส้เดือน  เริ่มต้นด้วยการเตรียมเบดดิ้ง (Bedding) หรือแหล่งอาศัยให้ไส้เดือน โดยส่วนใหญ่จะทำจากมูลวัวแห้ง นำมาแช่น้ำแล้วเททิ้งเป็นเวลา 2-15 วัน ก่อนนำมูลวัวไปใช้เลี้ยงไส้เดือนตักเบดดิ้งใส่ถาดประมาณ 3 ใน 4 ของถาด ตรวจสอบความชื้นของเบดดิ้ง หากแห้งให้พรมน้ำพอชื้น ห้ามแฉะ ปล่อยไส้เดือนประมาณ 1-2 ขีดต่อถาด (ทดลองปล่อยจำนวนเล็กน้อยในถาดแรกก่อน หากไส้เดือนมุดลงไป แสดงว่าเบดดิ้งเหมาะสม) หากพบว่าไส้เดือนไม่มุดลงไปควรหมักเบดดิ้งต่ออีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงนำมาใช้  โดยนำถาดวางซ้อนกันเป็นคอนโด คลุมตาข่ายกันแมลง หมั่นตรวจสอบความชื้น ประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มสังเกตเห็นมูลไส้เดือนตรงผิวหน้าเบดดิ้งชัดเจน ค่อยๆ ทยอยปาดเก็บออก เกลี่ยและผึ่งมูลไส้เดือนในที่อากาศถ่ายเทจนแห้ง ร่อน จากนั้นเก็บใส่กระสอบหรือถุงไว้ใช้ต่อไป ทั้งนี้เมื่อเก็บมูลไส้เดือนออกจนเกือบหมด เบดดิ้งที่เหลือพร้อมกับไส้เดือน เก็บไว้ใช้เพาะเลี้ยงบนเบดดิ้งชุดใหม่ต่อไป

สารปรับปรุงดิน   ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นภายในชุมชนส่วนใหญ่เกิดจาก อาคาร บ้านเรือน และแหล่งชุมชน ขยะมูลฝอย ที่เกิดในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นประเภทขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก เช่น เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ เศษผัก และเปลือกผลไม้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีวิธีการจัดการขยะมูลฝอยด้วยตนเอง และยังไม่ให้ความสำคัญในการคัดแยกประเภทของขยะมูลฝอย ครัวเรือนบางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบเก็บ ขนและกำจัดขยะมูลฝอย แต่ครัวเรือนบางส่วนยังไม่อยู่ในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบเก็บ ขนและกำจัดขยะมูลฝอย จึงดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยด้วยตนเอง โดยวิธีการกองเผา หรือด้วยวิธีการเก็บใส่ถุงรวมกับขยะมูลฝอยประเภทอื่นๆ แล้วนำไปทิ้งตามที่สาธารณะริมทางเดิน ข้างถนน สนามหญ้า ใต้ต้นไม้ และแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหากลิ่นเหม็นของกองขยะมูลฝอย ปัญหาแมลงวัน และสัตว์นำโรคชนิดต่างๆ ปัญหาควันไฟจากการเผาขยะมูลฝอย ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วว. จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นำถุงพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการคัดแยกขยะอินทรีย์ แล้วจัดเก็บเพื่อนำมาหมักรวมกับมูลสัตว์เพื่อพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดินที่สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุภายในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงขึ้น

สารชีวภัณฑ์   วว.มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC  17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE และผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน

นอกจากการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆดังกล่าวแล้ว  วว. ยังให้ บริการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินการ  โดยให้บริการวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC  17025 ทั้งนี้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสนใจเข้ามาใช้บริการ มีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินเพื่อการนำมาวิเคราะห์ ดังนี้1.เก็บตัวอย่างดินภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเล็กน้อย หรือก่อนเตรียมดินปลูกพืชครั้งต่อไป เพื่อให้ทราบถึงระดับธาตุอาหารในดินและแนวทางการบริหารจัดการก่อนปลูกพืชครั้งต่อไป  2.วิธีการเก็บตัวอย่างดิน  ให้แยกดินเป็นแปลงๆ จากนั้นแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆละ 10-20 ไร่ ต่อการเก็บดินหนึ่งตัวอย่าง โดยจะเก็บตัวอย่างดินแปลงละ 15-20 จุดและ 3.การสุ่มเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์   ควรสุ่มเก็บตัวอย่างดินให้ได้ประมาณ 500 กรัม/หนึ่งแปลง

“…ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมแกร่งการทำเกษตรกรรมของประเทศไทยดังกล่าวนั้น เป็นผลงานจากการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  ภายใต้นโยบาย BCG โมเดล เป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปในการดำเนินงานเสริมแกร่งให้กับพี่น้องเกษตรกร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9004, 0 2577 9007 ,0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009  E-mail : tistr@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.