สอวช. ชี้ โลกป่วยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุนแก้ปัญหาด้วยกลไกความร่วมมือ เดินหน้าจัดตั้ง consortium ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม
(เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “The World is in Crisis, How Can We Rescue? โลกป่วยขั้นวิกฤต…จะกู้โลกได้อย่างไร” เป็นส่วนหนึ่งในงาน “ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability” จัดโดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงมุมมองของโลกในปัจจุบัน ที่นอกจากจะป่วยด้วยความเสื่อมลงทางด้านศีลธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรง อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงต่อไป เมื่อพูดถึงเรื่องของการสร้างความยั่งยืน จึงต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศร่วมด้วย
“ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกิดจากตัวเราเอง ซึ่งไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้ แม้จะรู้ถึงผลกระทบ แต่ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขตัวเราเองได้ สิ่งสำคัญจึงต้องสร้างความตระหนักให้รู้ว่าปัญหานั้นจะส่งผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพ และยังกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร ในสมัยก่อนเราอาศัยการพึ่งพาธรรมชาติ แต่ปัจจุบันเราพึ่งพาธรรมชาติได้ยากขึ้น เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง หากมองในภาคอุตสาหกรรมก็จะไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากขาดวัตถุดิบและปัจจัยสำคัญหลายอย่าง นี่จึงถือเป็นความป่วยที่คิดว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อประเทศของเรา” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังถือเป็นปัญหาสากล เพราะฉะนั้นการแก้ไขจึงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่งจากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Innovation Roadmap for Industrial Decarbonization” ที่ สอวช. จัดร่วมกับ SCG และได้มีการระดมความเห็นจากบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการศึกษาและวิจัย พบว่า นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งการจะทำนวัตกรรมได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาก ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างประเทศ รวมถึงภาคประชาชนคนไทยเอง
ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวว่า นวัตกรรมจะช่วยให้เรามีหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาโลกป่วย ปัญหาโลกร้อน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ด้วยนวัตกรรม ต้องมีกลไกอย่างน้อย 3 อย่างที่จะนำมาใช้ ได้แก่ กลไกแรกคือกลไกด้านความร่วมมือ ต้องมีการร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กลไกต่อมา คือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องการ know-how ต้องการเทคโนโลยีที่ใหม่และมีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วย ซึ่งจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ มองถึงโอกาสของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 ด้าน คือ 1. Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน 2. Hydrogen พลังงานทางเลือกไฮโดรเจน รวมถึงการไปสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen economy) 3. Fuel Switching การปรับเปลี่ยนรูปแบบของการใช้เชื้อเพลิง จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน 4. Electrification เช่น การจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และกลไกสุดท้าย คือกลไกการสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบายของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วย หรือในระดับสากล จะมีกลไกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่จะช่วยสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านการเงิน
นอกจากนี้ ดร. กิติพงค์ ยังได้เชิญชวนทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน โดยมีการจัดทำแผนที่นำทางนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายของประเทศ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านการขับเคลื่อนของทั้ง 4 เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะมีการเดินหน้าต่อโดยการจัดตั้งเป็น consortium ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป