วช. หนุนนวัตกรรมตรวจจับฝุ่นละออง PM2.5 ช่วยลดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัยคิดค้นนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการใช้เทคโนโลยีผลิตเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศ ด้วยระบบเซ็นเซอร์ (DustBoy) เก็บและรวบรวมข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควัน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะนำมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง วช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของประชาชน มีนวัตกรรมมากมายที่นักวิจัยผลิตขึ้นมาและต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งรวมไปถึงนวัตกรรมจากทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทาง วช. ได้ให้การสนับสนุนโครงการผลิตเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ DustBoy เพื่อนำไปใช้เฝ้าระวังเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้แม้ประชาชนเผชิญกับภัยคุกคามสุขภาพจากสถานการณ์โรคโควิด -19 แต่ปัญหาฝุ่นละอองหมอกควันก็ยังเป็นปัญหาทำลายสุขภาพของประชาชนอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพมหานคร สำหรับพื้นที่ทางภาคเหนือ มีรายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคปอดเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการสูดฝุ่นละอองและหมอกควันในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้ง ประกอบกับที่ผ่านมายังประสบปัญหาเรื่องข้อมูลในการเฝ้าระวังป้องกัน ทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ระบบเซ็นเซอร์ โมเดล DustBoy ซึ่งมีรัศมีตรวจวัดสภาพอากาศได้สูงสุดถึง 10 ตารางกิโลเมตร เพื่อประเมินและรวบรวมค่าฝุ่นละอองแจ้งเตือนประชาชนให้คอยเฝ้าระมัดระวังและเตรียมแผนรับมือปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น โดยได้นำไปติดตั้งในพื้นที่นำร่องเพื่อสนับสนุนงานของสถานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด อำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับมลพิษทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีการนำไปติดตั้งทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 เครื่อง อีกทั้งยังมีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและคนในชุมชน
สำหรับท่านใดที่สนใจนวัตกรรมนี้ สามารถเข้าชมได้ที่งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ( Thailand Research Expo 2022 ) “ ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ