วช.หนุนนวัตกรรม หนุ่มพิการใช้ปากวาดภาพจุดประกายพลังแห่งปัญญาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พร้อมนำเสนอผลงานในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พิการไม่รู้สึกย่อท้อกับชะตาชีวิต ให้การสนับสนุนนวัตกรรมผลงานวาดภาพด้วยปาก จากผลงานพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ของ นายพรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์ ( โซคูล ) หนุ่มนักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ แม้จะเป็นผู้พิการทางร่างกายแขนขา แต่หัวใจเปี่ยมล้นไปด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานการวาดภาพ สร้างแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนและผู้พิการ ที่ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ มองข้ามอุปสรรคสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต และได้มีการนำผลงานของโซคูล มาโชว์ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้นำผลงานวิจัยกว่า 500 ผลงานมาแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่ง 2565 ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมผลงานการวิจัยที่โดดเด่น สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือนวัตกรรมผลงานภาพวาดอย่างวิจิตรบรรจง ของหนุ่มพิการโซคูล ภายใต้ผลงานพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนพิการในงานศิลปะวิจิตรศิลป์ รวมทั้งความสามารถด้านอื่นๆของผู้พิการ ที่สามารถแสดงศักยภาพให้สังคมได้เห็นว่าผุ้พิการไม่ได้สร้างภาะระให้กับสังคม และสามารถทำคุณประโยชน์ได้อีกมากมาย ทั้งเพื่อเลี้ยงชีพให้กับตัวเอง และสร้างชื่อสร้างให้กับประเทศชาติ
นายพรหมพัฒน์ โชติสิรดานันท์ หรือ ที่รู้จักกันดีว่าน้องโซคูล ได้เล่าเรื่องราวของชีวิตให้ฟังว่า ตัวเองเป็นผู้พิการแขน ขา มาแต่กำเนิด โดยได้รับความรักความอบอุ่นเลี้ยงดูมาอย่างดีมาจากครอบครัว ทำให้ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับชีวิต ในวัยเรียนระดับประถมและมัธยม ก็ได้เข้าเรียนตามปกติเหมือนคนทั่วไปเพียงแต่ต้องใช้ปากเขียนหนังสือแทนการใช้มือที่พิการ โซคูลย้ำว่าเค้าเป็นเพียงผู้พิการทางร่างกายไม่ได้พิการทางสมอง ด้วยการมีใจรักด้านการวาดภาพตั้งแต่เด็กเลยมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองเรื่อยมาร่วมกับพรสวรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ แม้จะมีความสามารถในการร้องเพลง แต่โซคูลเลือกที่จะวาดรูป เพราะคิดว่าสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ที่นำรูปมาให้วาดหรือการวาดภาพเหมือนไม่ได้ตั้งราคาตายตัวแล้วแต่ผู้ว่าจ้างให้โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อภาพ เมื่อปีที่แล้ว ( 2564 ) โซคูลได้รับการพิจารณาคัดเลือกประกาศเกียรติคุณเยาวชนดีเด่นแห่งชาติต้นกล้าคุณธรรม สาขาผู้สร้างแรงบันดาลใจเนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2564 ปัจจุบันโซคูลกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แนวคิดของโซคูล สามารถสร้างแรงบันดาลใจจุดประกายความคิดให้กับผู้พิการโดยทั่วไป เค้ามองว่าผู้พิการมีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนทั่วไป ต้องกล้าที่จะแสดงออกและหาจุดยืนให้กับตัวเอง จุดเริ่มต้นอาจไม่จำเป็นต้องวาดเป็นแต่ต้องอาศัยทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ประกอบกัน กำหนดตัวตนของฉัน อนาคตที่ฉันอยากจะเป็น ผ่านการเล่าเรื่องราวของตัวเอง ขณะที่ทาง รศ.อุดม ฉิมภักดี อาจารย์ภาควิชาศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าในอนาคตจะมีการขยายผลต่อยอดโครงการพลังแห่งปัญญา สู่พลังแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ไปสู่เด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนคนพิการในจังหวัดเชียงใหม่ 6 แห่ง จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง และจังหวัดน่านอีก 1 แห่งเพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเค้าเหล่าได้แสดงความสามารถด้านงานศิลปะวาดภาพ เพื่อหวังเป็นทางเลือดกหนึ่งในการเสริมคุณภาพชีวิตในอนาคต
ชมผลงานของโซคูลได้ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร