มิว สเปซ ส่ง “ดาวเทียมสื่อสารฝีมือคนไทย…ดวงแรก!” เข้าผ่านการทดสอบมาตรฐานสากลโดย GISTDA
บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนการบินและอวกาศ และผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียม เดินหน้าพัฒนาดาวเทียมเพื่อการสื่อสารฝีมือคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงวันที่ 9-11 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้นำชิ้นส่วนดาวเทียมเข้าทดสอบประสิทธิภาพกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการเพื่อการทดสอบวัสดุที่เตรียมนำส่งขึ้นชั้นบรรยากาศโดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ถือได้ว่าการทดสอบครั้งนี้ คือการทดสอบชิ้นส่วนดาวเทียมสื่อสารดวงแรกที่พัฒนาและผลิตขึ้นโดยคนไทย และทำการทดสอบโดยองค์กรภาครัฐของไทย
มิว สเปซ ได้ก่อตั้งโรงงาน Factory 1 ขึ้นเพื่อดำเนินการสำหรับการออกแบบ พัฒนา และผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตลอดจนการประกอบดาวเทียมขนาดเล็กทั้งดวงจนสมบูรณ์พร้อมใช้งาน โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญภายในบริษัทของเรา และชิ้นส่วนดาวเทียมที่เราได้นำมาทำการทดสอบกับ GISTDA คือ “Reaction Wheel” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายในดาวเทียมมีหน้าที่ช่วยในเรื่องการทรงตัวและการเคลื่อนที่ของดาวเทียมบนชั้นบรรยากาศซึ่งอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักทำให้ยากต่อการทรงตัวเข้าทำการสอบประสิทธิภาพ “Vibration Testing” หรือ “การทดสอบในสภาวะการสั่นสะเทือน” ขั้นตอนการทดสอบนี้ถือได้ว่าเป็นการทดสอบขึ้นพื้นฐานที่สำคัญ เนื่องจากชิ้นส่วนอาจแตกและสร้างผลกระทบความเสียหายต่อเนื่องไปยังส่วนอื่น ๆ ภายในดาวเทียมได้ หากชิ้นส่วนนั้นไม่สามารถทนต่อสภาวะการสั่นสะเทือนที่ไม่อาจเลี่ยงได้จากการนำวัตถุขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยผลการทดสอบครั้งนี้ได้การรับรองจาก SSTL/Airbus และมีมาตรฐาน AS9100 D จาก GISTDA
ปัจจุบัน GISTDA พร้อมด้วยสถานที่ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบที่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งการทดสอบนี้ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนดาวเทียมที่จะนำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของ มิว สเปซ มีคุณภาพและได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้า อีกทั้งการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการช่วยสร้างรากฐานความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลกได้
ทั้งนี้ บริษัท มิว สเปซ ผู้ผลิตและพัฒนาดาวเทียมสื่อสารโดยฝีมือคนไทย ได้พยายามผลักดันวงการเทคโนโลยีอวกาศอย่างเต็มกำลัง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสและรายได้ให้กับคนในประเทศไทย ทั้งนี้ มิว สเปซ พร้อมด้วยกำลังการสนับสนุนจากเหล่านักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างชาติ อาทิ นักลงทุนชั้นนำอย่างบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ – อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย รวมถึงบริษัท Majuven Fund พร้อมกลุ่มนักธุรกิจเอกชนต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รวมทั้งนักลงทุนรายอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม โครงการต่าง ๆ ของมิว สเปซ กำลังเป็นที่น่าจับตามองของกลุ่มนักลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน