วว. บูรณาการดำเนินงานหน่วยงานพันธมิตรสกลนครนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์/สังคม
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการนำผลงานวิจัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม โดยกรอบความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ วทน. เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ทรัพยากรท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
โดยจะนำร่องการดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา (เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ และเห็ดระโงก) ซึ่งมี ดร.ธนภักษ์ อินยอด นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) วว. เป็นหัวหน้าโครงการ โดยจะถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างสวนป่าต้นแบบสวนเห็ดครัวเรือน และโรงงานผลิตเห็ดในพื้นที่บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร (บริเวณเทือกเขาภูพาน) ซึ่งจะ สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน และเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบ Quadruple Helix ที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เข้าไปช่วยพัฒนาเชิงพื้นที่แบบยั่งยืน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อนึ่ง เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับเทคโนโลยีเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา พบว่า การนำเห็ดไมคอร์ไรซามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่งผลให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า อีกทั้งเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ยังได้ผลผลิตของเห็ดป่าที่เพาะร่วมกับต้นไม้ นับเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ และยังสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืน