วว. ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี อบรมการขยายสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุน ป้องกันโรคพืช ได้ผลผลิตดีขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.ตันติมา  กำลัง   นักวิจัยอาวุโส  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ร่วมกับ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี นำโดย นายธีรเจต  มณีโรจน์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ  นางสาวอรุณวดี  สว่างดี  หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร และ นายธนวัฒน์  พิศดาร นักวิชาการเกษตร จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่มอบถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชน ผลงานวิจัยพัฒนา วว. พร้อมทั้งอบรมการขยายสารชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชนผลงานวิจัยพัฒนาของ วว. ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม” จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่  5 กันยายน 2565 เพื่อผลิตสารชีวภัณฑ์สำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรมของกลุ่มและการผลิตจำหน่ายในอนาคต ภายหลังจากที่ทางกลุ่มฯ ได้ร่วมทดลองนำชีวภัณฑ์ไปใช้ในนาข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า การใช้ชีวภัณฑ์สามารถทดแทนสารเคมี ช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคพืชในข้าวลดลงได้ โดยถังขยายชีวภัณฑ์ระดับชุมชนมีกำลังการผลิตหัวเชื้อเข้มข้น 150 ลิตร และสามารถเจือจางเตรียมเป็นเชื้อจุลินทรีย์พร้อมใช้งานได้ 1,500 ลิตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวน 30 ไร่ ต่อ 1 ถัง/รอบการผลิต

ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม”  มีพื้นที่ปลูกข้าวปทุมธานีจำนวน  910 ไร่  ปลูกด้วยระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวม ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ วงจรชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่ได้จากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน จึงปลอดภัยและมีคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand และทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “เพราะรักกสิกรรม” ยังเป็นกลุ่มตัวอย่างของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีในการผลิตข้าวหอมปทุมธานี 1 ที่เป็นข้าว GI อินทรีย์ของจังหวัดอีกด้วย ดังนั้นในการใช้สารชีวภัณฑ์ผลงานวิจัย วว. กับแปลงข้าวของกลุ่มจึงเป็นการตอบโจทย์และสอดคล้องกับแนวทางการทำเกษตรของกลุ่มได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม

อนึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  สนับสนุนนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศโดยเฉพาะภาคการเกษตร ผ่านการดำเนินงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร  หรือ  ICPIM  2   มีกำลังการผลิตรวมต่อปี 115,000 ลิตร  มีสายการผลิต “สารชีวภัณฑ์” ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพควบคุมศัตรูพืช เพื่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน

วว. สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน  3  รูปแบบ คือ  หัวเชื้อเหลว  หัวเชื้อผง และหัวเชื้อสด  ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี  3 ขนาด คือ  เล็ก กลาง และใหญ่  ตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่  มีการบูรณาการดำเนินงานครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร  ได้แก่  **ศูนย์จุลินทรีย์    มีสายพันธ์จุลินทรีย์ในคลังมากกว่า  11,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่  ***โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ   พร้อมให้บริการจัดเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการ  **ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร   มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม  OECD  GLP  GUIDLINE  ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์

จุดแข็งด้านชีวภัณฑ์ วว.  มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงาน  ICPIM 2 ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม  นอกจากนี้ยังมีการวิจัยพัฒนาถังหมักระดับชุมชน ในรูปแบบถังสแตนเลสและถังพลาสติก ที่สามารถตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการขยายชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม

จุดเด่นของสารชีวภัณฑ์ผลิตโดย วว.

           1.ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช

2.มีการทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE 

3.ผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน

 สอบถามเกี่ยวกับ   “สารชีวภัณฑ์”  ได้ที่   ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์   วว.  โทร. 0 2577  9016, 02-577 9021   โทรสาร 0 2577  9009   E-mail : icpim2@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.