GISTDA เปิดบ้านต้อนรับ สทนช. ชมภารกิจต้นน้ำ พร้อมหารือแนวทางการใช้ประโยชน์นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศ
9 กันยายน 2565 : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. เปิดบ้านต้อนรับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภายใต้โครงการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ GISTDA โดยมี ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 พร้อมด้วยทีมงานให้การต้อนรับ และนำชมภารกิจด้านกิจการอวกาศ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความพร้อมในการให้บริการของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) พร้อมหารือแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน ณ GISTDA ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 ของ GISTDA กล่าวว่า การเปิดบ้านต้อนรับ สทนช. ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สทนช. และ GISTDA ที่จะทำให้เห็นภาพรวมของการทำงานที่ GISTDA มีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อการสนับสนุนด้านข้อมูลภาพจากดาวเทียม ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการวางแผนถ่ายภาพ การรับสัญญาณ การผลิตข้อมูลจากดาวเทียม จนนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลภาพ ก่อนจะส่งต่อและนำไปใช้งานจริงต่อไป เป็นต้น และยังถือเป็นโอกาสดีที่ สทนช. จะได้เห็นกระบวนการทดสอบระบบดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2A ที่มีมาตรฐานในระดับ industrial grade ที่วิศวกรดาวเทียมของไทยได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบและพัฒนา รวมถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจโลก.
ผอ. สำนักบริหารโครงการ THEOS-2 กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้บริหารและคณะผู้แทนจาก สทนช. ยังได้ร่วมรับฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับการประยุกต์ใช้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ การบริหารสถานการณ์น้ำกับพื้นที่ปลูกข้าว และ การติดตามข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม เป็นต้น รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จาก THEOS-2 ที่จะมีการพัฒนาข้อมูลจากดาวเทียมสู่การประยุกต์ใช้ด้วย AIP ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผสมผสานในเรื่องของข้อมูลที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลภาพจากดาวเทียมสำรวจโลก ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ภาคพื้นดิน ข้อมูลจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในรูปแบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือ Big Geospatial Data เพื่อนำมาวิเคราะห์ตามภารกิจที่สำคัญของประเทศอย่างเช่น ด้าน Mapping, ด้านเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร, ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ, ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ และด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานระดับนโยบายได้มองเห็นถึงปัญหาเชิงลึกได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) ที่จะช่วยปรับปรุงและต่อยอดการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ