สอวช. – มจธ. จัดพิธีปิดหลักสูตรนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 4 มุ่งบ่มเพาะนักออกแบบนโยบาย สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานแก้โจทย์สำคัญของประเทศ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 4 (STIP04) พร้อมการนำเสนอข้อเสนอนโยบาย (Final Presentation) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2565 โดยได้รับเกียรติจาก ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวปิดการอบรม และมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรมในรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า หลักสูตรการออกแบบนโยบาย วทน. จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงานส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรกว่า 18 หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยจุดเริ่มต้นในการจัดหลักสูตร STIP ขึ้นมา เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่เป็นพลังสำคัญในการสร้างการเติบโตและการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสร้างความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งการจะทำนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ จะต้องมีคนเข้าใจเรื่องการทำนโยบายและการจัดการนวัตกรรม หลักสูตร STIP จึงเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นเรื่องการออกแบบงานทางด้านนโยบาย มาตรการต่างๆ รวมไปถึงการเรียนรู้การจัดการนวัตกรรม การจัดอบรมให้ความสำคัญใน 2 ส่วน ทั้งการให้ความรู้การออกแบบนโยบายในเชิงทฤษฎี และการลงมือปฏิบัติจริงในการออกแบบนโยบาย ที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานมาให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าอบรมและร่วมเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริง
“การเข้าร่วมหลักสูตรนี้ ทำให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพว่าการคิดในเชิงนโยบายและกระบวนการออกแบบนโยบายมีขั้นตอนอย่างไร เริ่มตั้งแต่การมีแนวคิดด้านนโยบายขึ้นมา นำไปสู่การทำวิจัย การหาแหล่งข้อมูลสนับสนุนการวิจัย จัดทำเป็นข้อเสนอ ไปจนถึงขั้นตอนการนำนโยบายนั้นไปใช้เป็นนโยบายของประเทศอย่างจริงจัง นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีการประเมินผลการใช้นโยบาย และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้นต่อไป สิ่งที่สำคัญที่จะได้ในหลักสูตรนี้ นอกจากสติปัญญา คือการที่ได้ทำงานเป็นกลุ่ม เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานร่วมกันในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่น เชื่อว่าหลักสูตรนี้จะช่วยสร้างพลังและสร้างความร่วมมือในการทำงานใหญ่หรืองานยาก รวมถึงการต่อสู้กับโจทย์ของประเทศที่เป็นโจทย์ยากและซับซ้อนร่วมกันได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. มณฑิรา กล่าวว่า หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการจัดทำนโยบาย วทน. ของประเทศ มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้อยู่ในระบบออนไลน์ แต่ก็ทำให้ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ สอวช. ในการผลักดันให้มีการจัดอบรมขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเห็นพลังและศักยภาพของผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคน ที่มารวมตัวกันผนึกกำลังเป็นชุมชนนักออกแบบนโยบาย โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมการอบรมทุกคนจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานของตนเองได้ ในงานยังได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรม ในรุ่นที่ 3 มีผู้สำเร็จการฝึกอบรม 56 คน และรุ่นที่ 4 มีผู้สำเร็จการฝึกอบรม 65 คน รวมถึงมีการประกาศผลทีมที่ได้รับรางวัลจากการจัดทำข้อเสนอนโยบาย โดยในรุ่นที่ 3 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีมาตรฐานด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ตรวจสอบย้อนกลับ (National Digital Traceability Platform) และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ สื่อสร้าง STI การสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรม วทน. และ Herb Hub: Economic Zone of Innovation for Medical Herbs ส่วนรุ่นที่ 4 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มนโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Medical Imaging-Systems & Software (MIS) และกลุ่มนโยบาย EV Battery Consortium โดยทีมที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงินทุนสนับสนุนในการนำข้อเสนอด้านนโยบายไปพัฒนาต่อยอดต่อไป