เนคเทค สวทช. จับมือพันธมิตร ชูผลงานเยาวชน สร้างนวัตกรรม Project Based Learning ในโครงการ“ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa)
19 กันยายน 2565: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พร้อมหน่วยงานพันธมิตร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมปิดโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa) โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดพร้อมมอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ 15 ผลงาน ที่เข้าร่วมโครงการฯ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่าเนคเทค สวทช.พร้อมหน่วยงานพันธมิตร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa) เพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้นักศึกษา และพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านการเกษตร จากโจทย์ผู้ใช้งานจริง เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 มีผลงานส่งเข้าร่วมพิจารณาจำนวน 57 ผลงาน จาก 42 สถาบัน ผลงานได้การคัดเลือกรับทุนสนับสนุนให้พัฒนาต่อยอดพร้อมพัฒนาทักษะเยาวชนในทีมจำนวน 15 ผลงาน 16 สถาบัน
กิจกรรมครั้งนี้ เป็นอีกบทบาทและพันธกิจหนึ่ง ของ เนคเทค สวทช. ในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศการใช้งานเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ในการดำเนินโครงการฯ เนคเทค ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ร่วมวางแผน วางแนวทางการพัฒนาผลงาน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนในสายอาชีวศึกษา โดยเฉพาะการเสริมสร้างเยาวชนอาชีวศึกษาให้เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ โดยอาศัยฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ชุมชน และเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจของประเทศที่มั่นคงในอนาคต
นอกจากการพัฒนาผลงานตอบโจทย์ผู้ใช้แล้ว ผลการวัดการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ผ่านโครงการ ยังพบว่า นักศึกษามีคุณลักษณะของการเป็นนวัตกร มีการพัฒนาทักษะ 4Cs (Critical Thinking , Creative Thinking, Collaboration, Communication) อันเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 โดยมีพัฒนาการในด้านกรทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) สูงที่สุด ในขณะที่อีก 2 ทักษะคือ Critical Thinking , Creative Thinking ก็เปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญของนวัตกรในยุคใหม่ ที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ในระยะต่อไป
โดยระหว่างพัฒนาผลงาน มีการอบรมและพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เสริมความรู้เริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2564 ดังนี้
- การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการพัฒนาผลงาน (Workshop 1) เสริมทักษะการทำงานเป็นทีม การรับโจทย์ปัญหาจากกลุ่มเป้าหมาย ความรู้ด้านเทคโนโลยี แนวคิดการพัฒนาผลงาน ฝึกปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
- กิจกรรม Clinic Online 2 ครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนเมษายน 2565 โดยมี พี่เลี้ยงจากเนคเทค เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ทีมสามารถขอคำแนะนำและข้อเสนอแนะ และมีการพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง
- กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความรู้เชิงธุรกิจ (Workshop 2) ในเดือน พฤษภาคม 2565 เพื่อเสริมทักษะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทักษะด้านการสื่อสาร ความรู้เชิงธุรกิจ ความรู้เรื่องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา รู้จักรู้ใช้ S-curves บริหารจัดการโครงการ เพื่อเสริมความรู้ให้เยาวชนและคณาจารย์ ที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงนำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้นำทีมพี่เลี้ยงนักวิจัยจากเนคเทค ลงพื้นที่ติดตามผลงานทั้งหมดในพื้นที่จริง เพื่อให้คำแนะนำและรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ อีกด้วย