สอวช. หนุนดึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมช่วยในการบริการจัดการน้ำของประเทศ สร้างระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ความสำคัญของการใช้นวัตกรรมในการจัดการน้ำและน้ำเสีย” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ Water Forum ครั้งที่ 4 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน: Reshaping the future with innovation and technology for sustainable water and wastewater management” ในงาน Thai Water Expo 2022 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทย ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค เราประสบกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย อยู่เป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้นการจัดการกับปัญหาเหล่านี้คือต้องทำระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ซึ่งต้องดำเนินการในหลายๆ ด้านร่วมกัน เรามีกรอบการทำงานที่ใช้กันอยู่แล้ว เช่น Water Governance ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีกรอบการทำงานชัดเจนว่าต้องดำเนินการเรื่องใดบ้าง โดยพบว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงคือเรื่องของนวัตกรรม
“นวัตกรรมจะแทรกซึมไปในทุกๆ ส่วนของการทำงาน ตั้งแต่การบำบัดน้ำเสีย เช่น การทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ วัสดุขั้นสูง (advanced materials) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะกรองน้ำ เชื้อโรค สิ่งปนเปื้อนขนาดเล็ก รวมถึงการบำบัดน้ำเสียที่ใช้พลังงานน้อย ต้นทุนไม่สูง หรือนวัตกรรมการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในแต่ละช่วงเวลา อาทิ น้ำท่วม น้ำแล้ง ที่มีความแม่นยำ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม เตรียมการได้ทัน ซึ่งในปัจจุบันดำเนินการในส่วนนี้ได้ดี นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำที่ประหยัดและแม่นยำในภาคการเกษตร เรื่องของเกษตรอัจฉริยะ ชลประทานน้ำหยด ที่จะต้องทำ System Integration หรือการใช้เทคโนโลยีหลายตัวเข้ามาประกอบกัน ทั้งด้านซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นการทำนวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำที่ดีขึ้น” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ในมุมของการส่งเสริม ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) พบว่า ล่าสุดมีตัวเลขการลงทุนของนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำอยู่ในปริมาณน้อย เมื่อเทียบกันกับด้านอื่นๆ เช่น ด้านพลังงาน ด้านเกษตร หรือด้านคมนาคม ดังนั้นประชาคมอย่าง Water forum จะต้องเข้ามาช่วยสร้างความตระหนักว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญ และช่วยกันผลักดันให้เรื่องนี้มีความสำคัญสูงในการลงทุน ทั้งจากภาครัฐและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเทศไทยการพัฒนาทางเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมีนวัตกรรมที่น่าสนใจและมีฐานที่ดีอยู่แล้ว สามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ของน้ำท่วม น้ำแล้ง ระบบการคาดการณ์น้ำ ระบบส่งน้ำอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ตรวจสอบความชื้น เพื่อบอกความต้องการปริมาณน้ำที่ต้องการปล่อยลงมาจากเขื่อน อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ที่หากเราทำได้ก็จะช่วยพัฒนาในด้านนี้ได้มากขึ้น เช่น การทำแพลตฟอร์มการใช้ข้อมูลร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Data Hub จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการน้ำได้ดีและทันเวลา หรือการทำเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ และมีต้นทุนไม่สูง ซึ่งในส่วนนี้ ประชาคมด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พยายามที่จะพัฒนากลไกส่งเสริม รวมถึงกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นใน Water Forum ก็น่าจะช่วยยกประเด็นเหล่านี้เข้าไปอยู่ในวาระสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทุนได้
ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องน้ำยังมีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร ถ้าสามารถจัดการน้ำได้ดี จะช่วยให้ภาคเกษตรสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยในกรอบการทำงาน ที่ทำร่วมกับนานาชาติ มีตั้งแต่เรื่องความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี (technical assistance) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (knowledge sharing) และทาง สอวช. ยังได้ริเริ่มงานทางด้าน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีมาตรการสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) ผ่าน Circular Design Platform ที่ทำงานร่วมกันกับต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการของไทย สามารถออกแบบการผลิตและการบริการ ที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ใช้ได้นานที่สุด มีความสามารถที่จะหมุนเวียนได้นาน ซึ่งเรื่องน้ำก็จะเป็นส่วนหนึ่งในนั้นได้ ถ้าทำส่วนนี้ได้ดี ก็จะได้มี water footprint และ water productivity ที่ดี ที่นอกจากจะประหยัดน้ำ และสร้างผลผลิตได้สูงขึ้นแล้ว ยังสร้างความได้เปรียบในการค้าขายตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของต่างประเทศด้วย
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า เราได้เตรียมระบบนิเวศทางด้านนวัตกรรมไว้ได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว หวังว่าประชาคมทางด้านน้ำและการจัดการน้ำ จะสามารถมาใช้ระบบนิเวศเหล่านี้ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้นและจะช่วยให้การบริการจัดการน้ำของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นผลโดยตรงต่อประชาชนในทุกพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากระบบบริหารจัดการน้ำของเรา