ทีมเยาวชนประเทศไทยเจ๋ง คว้าสุดยอดรางวัล Intel AI Global Impact Festival ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
(23 กันยายน 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนประเทศไทย โดย นายธนภัทร จรัญวรพรรณ นายนพวิชญ์ ฉุนรัมย์ และ นายแมท แทนไทย คอช นักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้พัฒนาผลงาน “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียงเสต็ตโทสโคปด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” (CS-M Tool) โดยมี อาจารย์รุ่งกานต์ วังบุญอาจารย์กฤติพงศ์ วชิรางกุล และ อาจารย์สาธิตา วรรณรัตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และมีที่ปรึกษาเชี่ยวชาญทางโรคหัวใจและนวัตกรรม จากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ พญ.แรกขวัญ สิทธิวางค์กูล ผศ.ดร.นพ.นราวุฒิ ประเสริฐวิทยากิจ รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม อ.นพ.ชโนดม เพียรกุล และ ผศ.ดร. ยศธนา คุณาทร ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกในฐานะที่สร้างสรรค์ผลงานปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลกระทบสูง (Global Award winners for AI Impact Creator) ในระดับเยาวชนอายุ 13-17 ปี จากเวที Intel AI Global Impact Festival 2022 จัดโดย บริษัท อินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานและเข้ารับรางวัลจาก CEO ของบริษัท อินเทล Mr. Patrick P. Gelsinger ในงาน Intel Innovation 2022 Conference ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2565 ใน Silicon Valley ณ เมืองซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนไทยและทีมอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกครั้ง จากความคิดสร้างสรรค์สู่สิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กับผลงาน “เครื่องมือการตรวจสอบหัวใจด้วยตนเองจากเสียงเสต็ตโทสโคปด้วยอัลกอริธึมเครือข่ายเซลล์ประสาทเทียม” (CS-M Tool) โดยผลงานนี้ได้ผ่านเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 (National Software Contest: NSC 2022) ซึ่งจัดโดย สวทช. เป็นประจำทุกปี โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการและผู้สูงอายุ ระดับนักเรียน และเข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ สวทช. (NSTDA Annual Conference: NAC) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และล่าสุดในการประกวด Intel AI Global Impact Festival 2022 จัดโดย บริษัท อินเทล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้บริหารและนักวิชาการ เข้าร่วมเพื่อหารือและใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายโลกในปัจจุบัน มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงานจาก 25 ประเทศทั่วโลก และจะมีการมอบรางวัลชนะเลิศให้กลุ่มเยาวชน 6 รางวัลและครูอาจารย์อีก 3 รางวัล ซึ่งนอกเหนือจากทีมเยาวชนไทยแล้ว ยังมีผลงานของเยาวชนจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จของประเทศไทยที่มีบุคลากรในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทัดเทียมประเทศระดับแนวหน้าของโลก
ผลงาน CS-M Tool ของเยาวชนไทยจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับหูฟังของแพทย์ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั่วไปสามารถตรวจคัดกรองหัวใจในเบื้องต้นเองได้ เพื่อจะได้ช่วยป้องกันและลดการสูญเสียบุคลากรจากโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของไทยและทั่วโลก มีศักยภาพในการเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำตำบล และตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model ของรัฐบาล