มรภ.ราชนครินทร์ จับมือ สวทช. และภาคเอกชน มุ่งเสริมกำลังสมรรถนะ ‘บุคลากร-นักศึกษา’ ตอบโจทย์ภาคการผลิต สู่การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
(วันที่ 28 กันยายน 2565) : ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย NTT DATA Business Solutions (Thailand) Ltd. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมมือการดำเนินการ ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศจากกำลังทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างแท้จริง
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ด้วยนโยบายของกระทรวง อว. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model : BCG Model) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาจะต้องถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากร เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีฐานมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง”
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีความมุ่งมั่นพัฒนาคนหรือบุคลากรในทุกระดับ โดยการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการส่งเสริมงานวิจัย เพื่อนำไปช่วยพัฒนาชุมชนต่างๆ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อดึงเอาจุดเด่น นั่นคือองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้ร่วมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมทั้งในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชากร เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในฐานะมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น และช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวง อว. มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อพัฒนาทักษะอนาคตที่สำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 2. เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนางานด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ และ 3. เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“แนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นกระบวนการสำคัญในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัย มีการทำงานที่ตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะ องค์ความรู้ที่ทันสมัย ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยแต่ละสถาบันจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ทราบถึงแนวทางที่จะต้องทุ่มเททรัพยากร ความสนใจ รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในด้านนั้นๆ โดยทางมหาวิทยาลัยฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษาบุคลากรมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมระดับฐานรากที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” รศ. ดร.ดวงพร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พัฒนาหลักสูตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตให้กับผู้ประกอบการเกษตรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และบริเวณใกล้เคียง โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วันต่อหลักสูตร ผ่านความร่วมมือจากนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ผู้ประกอบการภายใต้โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ สวทช. นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ หน่วยงานพันธมิตรในการถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญ ได้แก่
1. หลักสูตร HandySense ‘ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ’ ขั้นพื้นฐาน 2. หลักสูตร HandySense ‘ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ’ ขั้นสูง ที่นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งนักวิจัยได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่ายทนทานต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 3. หลักสูตรการผลิตยางพาราตามมาตรฐานการแพทย์และสุขภาพ นำความรู้กระบวนการปลูกยางเพื่อการใช้น้ำยาง การเก็บน้ำยางและมาตรฐานน้ำยางเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และ4. หลักสูตรระบบบริหารจัดการและติดตามการผลิตพืชปลอดภัย GAP (SMART Farm_KASETTRACK) แอปพลิเคชันติดตามการปลูกพืชผักของเกษตรกร ซึ่งทำให้เกษตรกรรู้ชนิดพืชที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและสามารถวางแผนบริหารจัดการด้านการขาย โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต
นอกจากนี้ในความร่วมมือดังกล่าว สวทช. ยังมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ,การผลิตพริกคุณภาพแบบปลอดภัย ,การผลิตพืชหลังนาแบบครบวงจร : พันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ KUML และสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ซึ่งพัฒนาระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ
“รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วันต่อหลักสูตร เพื่อเสริมทักษะและสร้างแนวทางต่อยอดการเพิ่มมูลค่าทั้งผลผลิต และการพัฒนาเป็นอาชีพเสริม โดยผู้ผ่านการอบรมเฉลี่ย 30 คนต่อหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง ส่วนการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตร จะมีสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. มาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ ไปพัฒนาคุณภาพของผลผลิตและความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค และยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ สวทช. พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการในภาคการเกษตร เปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมที่ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ ไปสู่ ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ ด้วยการประยุกต์และปรับใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้อย่างยั่งยืน