วว. แนะปลูกพรหมทิส ‘Phrom Tistr’ พรรณไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ พร้อมดันเป็นพืชเศรษฐกิจยุคนิวนอร์มอล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะปลูกพรหมทิส ‘Phrom Tistr’ พรรณไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ พร้อมดันเป็นพืชเศรษฐกิจยุคนิวนอร์มอล ด้วยจุดเด่นทางพฤษศาสตร์ “ดอกสวย กลิ่นหอม สีสันโดดเด่น ออกดอกตลอดปี ทรงพุ่มเล็ก ” เหมาะปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกระถางสำหรับตกแต่ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในครัวเรือนและเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมให้สังคม
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ “ พรหมทิส : Phrom Tistr ” หรือ พรหม วว. ๑๓ เป็นพรรณไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ในวงศ์กระดังงาสกุลมหาพรหม ซึ่งผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ ดอกสวย มีสีสันโดดเด่นกว่าลูกผสมชนิดอื่นๆ เกิดจากการผสมข้ามชนิดพันธุ์ในพืชสกุลมหาพรหมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และออกดอกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2563 จากนั้นจึงทำการขยายพันธุ์โดยวิธีการต่อกิ่งลูกผสม ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อจะนำไปขยายพันธุ์ปลูกเลี้ยงและจำหน่ายสร้างรายได้ต่อไป
“พรหมทิส” จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปหอก กว้าง 3.00 – 4.00 เซนติเมตร ยาว 5.00 – 7.00 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน สีเขียว แผ่นใบบาง เส้นใบเด่นชัด ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกเดี่ยวมีขนาดเท่ากับสายพันธุ์พ่อ แต่เล็กกว่าสายพันธุ์แม่ ลักษณะทรงดอกคว่ำ ดอกบานเต็มที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ประมาณ 3.50–4.00 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง จำนวน 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในสีแรกบานสีส้มอ่อน เมื่อบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มถึงแดง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ระยะเวลาบานของดอก 3 วัน การเรียงตัวของใบค่อนข้างโปร่ง ใบเรียวเล็ก ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง มองเห็นดอกชัดเจน และออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ทรงพุ่มมีขนาดเล็ก สามารถพัฒนาปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางได้ หรือไม้จัดตกแต่งสวนได้
“นอกจากความสวยงามและประโยชน์ในการปลูกเลี้ยงแล้ว วว. ยังได้มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์พรรณไม้วงศ์กระดังงาสกุลมหาพรหม ให้มีความหลากหลายในด้านสีสัน กลิ่นหอม และลักษณะของดอก รวมถึงทรงพุ่มที่มีความแปลกใหม่มากกว่า 12 สายพันธุ์ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับถ่ายทอดสายพันธุ์ใหม่ๆ นำไปขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายในวงการไม้ดอกไม้ประดับ เช่น นักสะสมพรรณไม้ นักภูมิทัศน์ และผู้ที่สนใจปลูกเลี้ยงไม้ดอกหอมทั่วไป จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและวิถีชีวิตนิวนอร์มอลที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น การปลูกต้นไม้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด ช่วยเพิ่มสีเขียวให้กับสิ่งแวดล้อมโดยรวม นอกจากนั้นยังนำมาสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ วว. ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันในเร็ววัน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรณไม้ดอกหอมโบราณแบบไทยๆ ในวงศ์กระดังงา บางสกุลได้รับความนิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อม เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอม เช่น นมแมว สายหยุด กระดังงาไทย กระดังงาสงขลา การเวก และลำดวน เป็นต้น บางสกุลดอกมีสีสันสวยงาม และทรงพุ่มสวย อย่างเช่น สกุลมหาพรหม (Mitrephora) ได้แก่ มะป่วน กลาย พรหมขาว และมหาพรหมราชินี สกุลนี้พบในประเทศไทย โดยพบมากกว่า 8 สายพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีบางชนิดสามารถนำมาปลูกเลี้ยงเพื่อให้ร่มเงา เนื่องจากทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ เช่น ยางโอน ยางดง ยางเหลือง เหลืองจันทร์ คำฟู เหลืองไม้แก้ว ข้าวหลามดง ฯลฯ ส่วนอีกกลุ่มเป็นไม้เลื้อย ได้แก่ กระดังงาจีน กล้วยหมูสัง สายหยุด กล้วยอ้ายพอน พีพ่วนน้อย และนมแมวซ้อน เป็นต้น เหล่านี้เหมาะต่อการนำมาปลูกเลี้ยงตามซุ้มโครงสร้าง เพื่อให้ร่มเงา เช่น ลานจอดรถ ศาลาในสวน และโครงไม้ระแนงตามมุมต่าง ๆ ด้วยความสวยงามและคุณประโยชน์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น พรรณไม้วงศ์กระดังงาจึงจัดได้ว่าเป็นพรรณไม้ที่คู่ควรต่อการนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับอีกวงศ์หนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งหลายชนิดยังเป็นพรรณไม้ท้องถิ่น และอัตลักษณ์ความงามแบบไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา บริการ จาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000, 02-5779004, 02-5779007 โทรสาร 0-2577-9009 E-mail : tistr@tistr.or.th