วว. โชว์ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย /มาลัยวิทยสถาน/อบรมอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนนโยบาย BCG เนื่องในงานครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 63 ปี วช. 

วันนี้ (25 ต.ค. 2565 / บางเขน  กรุงเทพฯ )  ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก  เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  เป็นประธานในพิธีเปิดงานครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โอกาสนี้  ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ร่วมแสดงความยินดีพร้อมร่วมบริจาคจตุปัจจัยในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน วช. ประจำปี 2565 ในการนี้ ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล   ปลัดกระทรวง อว.  ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการ  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ให้เกียรติเยี่ยมชม  ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และมาลัยวิทยสถาน  วิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ   ซึ่ง วว.  ได้จัดแสดงนิทรรศการในโอกาสนี้ด้วย   โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช.  ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้โมเดลเศรษฐกิจ  BCG  โดยมี ดร.อาภากร  สุปัญญา  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. พร้อมคณะผู้บริหาร  นักวิจัยและบุคลากร  ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอรายละเอียดการดำเนินงาน  

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย คือ ความสำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบที่สำคัญ ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย BCG ช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีของประเทศ โดยเมื่อ พ.ศ. 2524 กระทรวงการคลังอนุมัติให้ วว. ดำเนินการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำ ที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.5   โดยปริมาตรจากมันสำปะหลัง  มีกำลังการผลิต 1,500 ลิตรต่อวัน  เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมบางส่วน ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2526  ใช้งบประมาณไปจำนวน 70  ล้านบาท  โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นและศึกษากรรมวิธีการผลิตจากสมาคมอุตสาหกรรมหมักแห่งประเทศญี่ปุ่น  สำหรับการผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอลจากวัสดุการเกษตร  ด้วยกระบวนการผลิตประหยัดพลังงาน  นับเป็นโรงงานแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น  

ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวต่อว่า  จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว  วว.  มีการต่อยอดวิจัยพัฒนาและประสบผลสำเร็จในการศึกษาการใช้เอทานอลไร้น้ำเป็นเชื้อเพลิง  พร้อมทำการศึกษาด้านตลาด  โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท สองพลอย จำกัด และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นำไปจำหน่ายในสถานีบริการ นอกจากนี้ได้ดำเนินโครงการทดลองตลาดผลิตภัณฑ์แก๊สโซฮอล์จากวัตถุดิบ  มันสำปะหลังสด  มันสำปะหลังเส้น และน้ำเบียร์ที่หมดอายุ  ส่งให้ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสามารถกลั่นเอทานอลไร้น้ำได้  168,000 ลิตร  นำไปผสมเป็นแก๊สโซฮอล์  สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงจำหน่าย ทดแทนน้ำมันเบนซินออกเทน  95  นอกจากนี้ยังให้บริการกลั่นแอลกอฮอล์ไร้น้ำให้กับ ปตท. เพื่อนำไปใช้ทดลองเป็นเชื้อเพลิงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาด้วย

“…โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำจากมันสำปะหลัง มีระยะเวลาเปิดดำเนินการในการทำหน้าที่เป็นโรงงานต้นแบบผลิตพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศรวม 20 ปี (พ.ศ.2526-2546) ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว  เนื่องจากโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลของภาคเอกชน  ซึ่ง วว. เป็นหน่วยงานสำคัญที่ผลักดันรัฐบาลอนุมัติให้มีการจัดตั้ง  ได้เริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์  ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ใช้อยู่ในขณะนี้  ด้วยศักยภาพของโรงงานแห่งนี้ วว. โดยการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ด้านพลังงานทดแทนของประเทศต่อไป…” ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.  กล่าว

สำหรับ มาลัยวิทยสถาน  ทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์  ยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้ 1) นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  2) พัฒนาข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่น สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์  3) พัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำการเกษตรแบบปลอดภัย  4) ยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ 5) พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค 6) ช่วยลดต้นทุนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 7) สร้างมูลค่าตามแนวทางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

อนึ่ง เนื่องในการจัดงานครบรอบคล้ายวันสถาปนา 63 ปี วช.  ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ณ วช. บางเขน นอกจากการจัดกิจกรรมเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้โรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์ไร้น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และมาลัยวิทยาสถาน แล้ว  วว. ยังได้ร่วมจัดการอบรมอาชีพ จำนวน  4  หลักสูตร  ได้แก่  การผลิตน้ำมันหอมสำหรับมือใหม่และสเปรย์แอลกอฮอล์จากสมุนไพรไทย  การจัดสวนสวยในขวดแก้ว  การจัดสวนย่อส่วน/ขนาด สำหรับใช้ประดับและตกแต่ง และการผลิตเชื้อเพลิงก้อนหรือแอลกอฮอล์แข็งจากเอทานอลเหลือทิ้ง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่พี่น้องประชาชน 

นอกจากนี้ วว. ยังได้นำนวัตกรรม BCG ผลงานของศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. และหน่วยงานพันธมิตรพัฒนาขึ้นร่วมจัดภูมิทัศน์ “ศูนย์เกษตรวิถีเมือง วช.” ด้วย ดังนี้ บล็อกคอนกรีตปูพื้นและแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปจากเถ้าโรงไฟฟ้า : ใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ได้มากถึงร้อยละ 20   กระเบื้องดินเผาตกแต่งจากส่วนผสมของเถ้าแกลบ   สีไฟโตคะตะลิสต์ : สำหรับผสมในสีเพื่อให้สีสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ลดการสะสมของแบคทีเรียและเชื้อโรคบนผนัง   คอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mixed Concrete) จากการนำเถ้าโรงไฟฟ้าผสมรวมกับทรายและหินสำหรับใช้ทดแทนวัตถุดิบเดิม เช่น ปูนซีเมนต์ ได้มากถึงร้อยละ 20

วว. พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน  ของประเทศ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  โทร. 0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์  www.tistr.or.th  อีเมล  : tistr@tistr.or.th  line@TISTR  IG : tistr_ig

Leave a Reply

Your email address will not be published.