นาโนเทค สวทช. ขอนำส่งข่าวประชาสัมพันธ์ “ริเชอรัลจากสารสกัดเห็ดหลินจือ- ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยมุก” 2 นวัตกรรมนาโนเทค สวทช. คว้ารางวัลจากเวที SIIF 2022

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. นำนวัตกรรมความงามอย่างริเชอรอล เนเชอรัล เฟเชียว ซีรั่ม ที่ใช้เทคโนโลยีการกักเก็บอนุภาคสารสกัดเห็ดหลินจือ และไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยมุกสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ไปคว้ารางวัลเหรียญทองและทองแดงจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ สาธารณรัฐเกาหลี

การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง SIIF เป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากในเอเชีย ในแต่ละปีมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอและประกวดกว่า 1,000 ผลงาน โดยนักวิจัย ศน.ได้นำผลงานวิจัยไปร่วมประกวดและสามารถคว้ารางวัลจากงาน

ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด

จากโรงเพาะเห็ดหลินจือ สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวพรรณริเชอรอล (REISHURAL) ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) จาก SIIF 2022 โดยเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยเรื่อง การพัฒนากรรมวิธีสกัดสารสำคัญจากดอกและสปอร์เห็ดหลินจือและระบบอนุภาคนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเวชสำอาง ที่ ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด และคณะจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ได้พัฒนากระบวนการสกัดดอกเห็ดหลินจือ ร่วมกับบริษัท ฟาร์มคิดดี จำกัด และขอทุนวิจัยจากโปรแกรม INNOVATIVE HOUSE (ปัจจุบันอยู่ภายใต้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช.) ซึ่งในตอนนั้น (พ.ศ.2560) อยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

สารสกัดเห็ดหลินจือที่ได้นั้น พบสารสำคัญหลักคือ Ganoderic acid A และ Ganoderic acid C2 จึงได้ต่อยอดพัฒนาระบบกักเก็บสารสำคัญ พร้อมกับพัฒนาระบบอนุภาคนิโอโซม เพื่อกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือ ซึ่งมีขนาดอนุภาคช่วง 144.6 ถึง 308.3 นาโนเมตร และประสิทธิภาพการห่อหุ้ม 96.67% ทำให้อนุภาคนี้กระจายตัวได้ดี มีความคงตัว มีความปลอดภัยในการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ และมีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังในมนุษย์ ที่สำคัญคือ อนุภาคสามารถนำส่งสารสำคัญเข้าสู่ผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.640 ถึง 97.44 ในเวลา 24 ชั่วโมง

อนุภาคกักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือที่ได้ ได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของอนุภาคในชื่อ ริชโอโซม (REISHOSOME) และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของริชโอโซมที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีการทดสอบในอาสาสมัครทั้งการระคายเคืองผิวหนัง (Irritation test) และประสิทธิศักย์ (Efficacy test) โดยผลการทดสอบประสิทธิศักย์พบว่า ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวสามารถช่วยริ้วรอยแลดูลดเลือน ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส และมีความชุ่มชื่นเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในอาสาสมัคร และจดแจ้ง อย. ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ริเชอรอล (REISHURAL) ในงานวิจัยนี้ตอบนโยบาย BCG และสร้างรายได้กับเกษตรกร และบริษัทที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากฟาร์ม เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนวัตกรรม

แปลงเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต

ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์

ในขณะเดียวกัน ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ก็ได้รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Prize) จาก SIIF 2022 เช่นกัน โดย ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า แผ่นเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มีอยู่จำนวนมาก และยังไม่มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม แต่ด้วยเป็นแผ่นเปลือกหอยมุกคุณภาพสูงที่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมระดับนาโนเมตรทางธรรมชาติแบบเดียวกับที่พบในมุก ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตความบริสุทธิ์สูง ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการแปรรูปไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากแผ่นเปลือกหอยมุกด้วยนกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานต่ำและไม่สร้างของเสียเพิ่มเติม

” แคลเซียมคาร์บอเนตที่พบในแผ่นเปลือกหอยมุกเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตความบริสุทธิ์สูง สีขาว และมีความสามารถในการดูดซับที่ดี โดยเป็นผงมุกแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมด้านเวชสำอาง ด้านอาหารและสุขภาพ” ดร.ชุติพันธ์กล่าว พร้อมชี้ว่า ทีมวิจัยได้พัฒนากระบวนการแปรรูปเป็นการใช้ความร้อนและสารเคมีในการทำลายสารอินทรีย์ที่เป็นตัวเชื่อมแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของแผ่นเปลือกหอยมุกโดยไม่ทำลายแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนต

เมื่อนำไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มาวิเคราะห์ทดสอบอย่างเป็นระบบ พบว่า รูปร่างของไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มีลักษณะเป็นแผ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอื่นๆ ที่แคลเซียมคาร์บอเนตทั่วไปไม่สามารถทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สีกลิตเตอร์จากธรรมชาติ (natural glitter pigment) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่แปรรูปได้มีขนาดที่หลากหลายโดยแต่ละขนาดมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดเล็กสามารถกระตุ้นให้เกิดฟองได้เร็ว ขนาดประมาณ 100 ไมครอน ใช้สำหรับขัดผิว เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมจากงานวิจัยนี้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบและทำมาตรฐานสินค้าแล้ว พร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ ยาสีฟัน สบู่ขัดผิว ผงขัดผิว

การแปรรูปแผ่นเปลือกหอยมุกเหลือทิ้งเป็นผงมุกแคลเซียมคาร์บอเนตนอกจากเป็นการแก้ปัญหาวัสดุเหลือทิ้งให้กับผู้ประกอบการ (Zero Waste) แล้วยังเป็นการดำเนินงานภายใต้นโยบายการพัฒนานวัตกรรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง (Waste-to-Wealth) โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบโดยคนไทยเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้วัตถุดิบไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ สร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published.