ชวนชมดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 พร้อมท่องอาณาจักรวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูงสุดล้ำ ในบูธ NARIT งาน อว. แฟร์ 22-28 ก.ค. นี้​ ที่ศูนย์สิริกิติ์ กรุงเทพฯ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.​ หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนเที่ยวบูธ NARIT ในงาน อว. แฟร์ ชมดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5 ที่นำมาจัดแสดงนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก พร้อมท่องอาณาจักรเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงสุดล้ำที่พัฒนาขึ้นจากโจทย์ดาราศาสตร์ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เข้าชมฟรี

NARIT ภายใต้กระทรวง อว. ร่วมกับ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจ TCP ปลุกพลังให้คนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำ “ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5” มาจัดแสดงในประเทศไทย ดินดังกล่าวมีชื่อว่า “หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน” (明月照我还) มีความหมายว่า “ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน” น้ำหนัก 75 มิลลิกรัม ถูกจัดเก็บในคริสตัลทรงกลมรูปดวงจันทร์เต็มดวง ทำจากกระจกพิเศษที่ใช้เป็นแว่นขยายส่องดูดินดวงจันทร์ได้ ก่อนหน้านี้เคยนำไปจัดแสดงที่ปักกิ่ง นานจิง ไห่นาน และฮ่องกง ก่อนจะนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย นับเป็นการจัดแสดงครั้งแรกนอกประเทศจีน สำหรับดินดวงจันทร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์จำนวน 1,731 กรัม ที่ยานฉางเอ๋อ 5 นำกลับมายังโลกเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา

อีกหนึ่งไฮไลท์ของบูธ NARIT คืองานนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ยกห้องแล็ปเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงจากเชียงใหม่มาตั้งกลางกรุง นำอุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโจทย์ดาราศาสตร์ จำนวนกว่าครึ่งร้อยมาจัดแสดงภายใต้แนวคิด “Empowering Thailand through FRONTIER RESEARCH” พร้อมพบปะกับวิศวกรคนไทยเจ้าของผลงานตัวจริงเสียงจริง แบ่งออกเป็น 7 โซนเทคโนโลยี ได้แก่

🔵 #เทคโนโลยีอวกาศ พบกับ “MATCH” อุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ของไทยที่จะติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 ของจีน เปิดตัวครั้งแรกที่นี่ พร้อมด้วยดาวเทียม TSC-1 ในโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ดาวเทียม NARITCube-1 และอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่เสมือนเป็นห้องแล็ปทดสอบระบบต่าง ๆ ของดาวเทียม

🔵 #เทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ ชม 16 ชิ้นงานด้านทัศนศาสตร์สุดล้ำที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับวิจัยดาราศาสตร์ อาทิ อุปกรณ์วิจัยที่ใช้กับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร งานทัศนศาสตร์สำหรับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก งานด้านอวกาศ งานเพื่อการวิจัยวิทยศาสตร์บรรยากาศ การแพทย์ และอุตสาหกรรม และงานทัศนศาสตร์ในอนาคต พร้อมกระโจนเข้าสู่ “ห้องลับ” เพื่อสำรวจเอกภพผ่านเทคโนโลยีโฮโลแกรม

🔵 #เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ เผยโฉม “หุ่นยนต์กล้องดูดาว” ทำงานด้วยระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติที่เหล่าวิศวกรออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ควบคุมกล้องดูดาวของ NARIT ทั่วโลก เปิดตัวนวัตกรรมฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าความแม่นยำสูง รวมถึงกล้องสำหรับมองทั่วท้องฟ้า และอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อตรวจสอบสภาพท้องฟ้าก่อนสั่งใช้งานกล้องดูดาว

🔵 #เทคโนโลยีคลื่นวิทยุและสัญญาณดิจิทัล ยกสิ่งประดิษฐ์ทางด้านคลื่นวิทยุและสัญญาณดิจิทัลที่หาชมยากมาตั้งภายในงาน เพื่อการศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ และการพัฒนากล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดใหญ่ 40 เมตร ณ จังหวัดเชียงใหม่

🔵 #เทคโนโลยีดาราศาสตร์ประยุกต์ จากเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่อุปกรณ์สุดซับซ้อน ได้แก่ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และกล้องถ่ายภาพความเร็วสูงสำหรับกล้องโทรทรรศน์ ขนาด 2.4 เมตร

🔵 #เทคโนโลยีเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ทำความรู้จัก “LiDAR” เครื่องมือวิจัยบรรยากาศที่มาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์ เพื่อศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงของ PM2.5

🔵 #เทคโนโลยีขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลความละเอียดสูง จัดแสดงชิ้นงานจากการขึ้นรูปเชิงกลความละเอียดสูง ที่รองรับงานพัฒนาอุปกรณ์ทางวิศวกรรมสำหรับดาราศาสตร์ทั้งหมดใน NARIT

นอกจากนี้ ภายในบูธยังมีบริษัทเอกชนร่วมจัด ได้แก่ SUVIT-TELESCOPE คนไทยผู้ผลิตและพัฒนากล้องโทรทรรศน์ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ของ NARIT และ NBSpace บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศในไทย รวมถึงกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มาร่วมแจกความสดชื่นด้วยเครื่องดื่มชื่อดังในเครือตลอดทั้งงาน

พบกับความตื่นตาตื่นใจต่าง ๆ เหล่านี้ได้ที่บูธนิทรรศการ NARIT บริเวณโซน F ในงาน อว. แฟร์ ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ สามารถเข้าชมงานได้ ตั้งแต่เวลา 09:00-20:00 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย


Leave a Reply

Your email address will not be published.