ดนตรี อว.บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์พร้อมกันทั่วประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการแสดงดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2565 “ดนตรีในสวน : H.M.Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” ปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2565 ในพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง ได้แก่ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนกำแพงเพชร 3 เขตจตุจักร และสวนหลวงพระราม 8 เชิงสะพานพระราม 8 ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางพลัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. 18 แห่ง เพื่อส่งมอบความสุขให้คนไทยทั่วประเทศผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้าน และอีกหลากหลายแนวเพลง โดยฝีมือการบรรเลงของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบวงซิมโฟนี ออร์เคสตร้า วงดนตรีสากล วงดนตรีไทย และวงดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ

ช่วงค่ำวันนี้ (5 ธันวาคม 2565) ณ สวนหลวงพระราม 8 : ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับชมการแสดงดนตรีและมอบช่อดอกไม้เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณให้กับวงดนตรี ซึ่งเป็นการแสดงของวง CU Band จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงดนตรีไทย จากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และวง PGVIM Wind Camerata จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาโดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ลัทธจิตร มีรักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมรับชมการแสดงครั้งนี้

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “อว.เทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร้อง บรรเลง เพลงของพ่อ” พร้อมกัน 72 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวงดนตรีมากกว่า 100 วงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสังกัด อว. บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งในรูปแบบวงซิมโฟนี ออร์เคสตร้า วงดนตรีสากล วงดนตรีไทยและวงดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นอัครศิลปิน ทั้งนี้ นายเอนก กล่าวว่า การรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้สืบสานผลงานที่พระองค์ทรงได้สร้างไว้ อว.ทำหน้าที่สืบสานสืบทอดศิลปะ ตนสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังทันเห็นพระองค์มาทรงดนตรีและทรงขับร้องบทเพลง ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่ทุกคนมีความสุขมาก ทรงส่งเสริมทั้งเนตรีึไทยและสากล และมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ศิลปินดนตรีอย่างถ้วนหน้า ด้วยทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ในศาสตร์แห่งศิลปะการดนตรี และนี่คือซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่อวดสายตาชาวโลกได้

ทางด้านสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมรับชมการแสดงดนตรีและมอบช่อดอกไม้เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณให้กับวงดนตรี โดยในวันนี้เป็นการแสดงของวงดนตรีร่วมสมัย วงถั่วงอกสีทอง จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จากคณะดุริยางคศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขณะที่สวนเบญจกิติ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมรับชมการแสดงดนตรีและมอบช่อดอกไม้เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณให้กับวง KBU BAND จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และวง RMUTR BAND จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลรัตนโกสินทร์

โดยทั้ง 3 สวนในค่ำคืนนี้ มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมรับฟังบทเพลงบรรเลงเพลงอันไพเราะเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย ไม่ว่าจะเป็นเพลง แสงเดือน รัก ยามเย็น ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด แสงเทียน แผ่นดินของเรา ฯลฯ

สำหรับงานดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2565 “ดนตรีในสวน : H.M.Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” จัดขึ้นเนื่องในวันชาติ วันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ท่านดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊ส ก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างกันออกไป” เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

Leave a Reply

Your email address will not be published.